Home
|
ไลฟ์สไตล์

หนึ่งคนแต่มีหลายร่าง ทำความรู้จักกับ โรคหลายบุคลิก(Dissociative Identity Disorder)

Featured Image

          การที่คนเราจะมีหลากหลายบุคลิกในตัวเองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางครั้งนิสัยของเรามักขึ้นอยู่กับว่า ณ ตอนนั้นเราอยู่กับใคร เราจะแสดงนิสัยด้านใดให้คนนั้นเห็น 

แต่ในบางคน กลับมีนิสัยที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนมีหลายคนอยู่รวมอยู่ในคนคนเดียว อาการแบบนี้เราเรียกว่า โรคหลายอัตลักษณ์ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder – DID) เป็นอาการป่วยทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ในบทความนี้ เราจะพาผู้อ่านทุกคน มาทำความรู้จักกับโรคเหล่านี้กันให้มากขึ้น

โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) คืออะไร

          โรคหลายบุคลิก เป็นภาวะความผิดปกติของพฤติกรรมการแสดงออกอย่างหนึ่ง จะมีลักษณะของการสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง  รวมทั้งไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก จะมีลักษณะเหมือนมีคนหลายๆคนรวมอยู่ในร่างของคนคนเดียว ผู้ป่วยโรคนี้จะมีลักษณะและนิสัยที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะมี 3-4 บุคลิกภาพในคนคนเดียว (แต่บางคนมีมากถึง 2500 บุคลิกเลย) และแต่ละบุคลิกก็มีมุมที่แตกต่างกัน เช่น นิสัยใจคอ เพศ พฤติกรรมต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ 

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ในหนังเรื่อง Split ตัวเอกก็มีลักษณะอาการนี้เช่นกัน แถมมีมากถึง 24 บุคคลิกภายในร่างเดียว เป็นผลกระทบมาจากการถูกกระทำในวัยเด็ก

โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) เกิดจากอะไร?

          โรคหลายบุคลิกเกิดจาก ปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องของสภาพแวดล้อมและจิตใจรวมกันอย่างรุนแรงและเป็นเวลานาน เช่น การถูกทำร้าย ทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ ความทรงจำที่เลวร้ายในวัยเด็ก (โดยส่วนมากเป็นการทารุณกรรมทางเพศ) 

โดยส่วนใหญ่แล้ว DID จะเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั้ง 9 ขวบ ซึ่งในช่วงอายุดังกล่าวแพทย์เชื่อว่า เมื่อเราต้องเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรงร่างกายและจิตใจของเราอาจรับมือไม่ไหว เราจึงสร้างอีกหนึ่งบุคลิกหรืออีกหนึ่งตัวตนขึ้นมา เพื่อให้ตัวตนเดิมของเราไม่ต้องรับรู้กับเหตุการณ์นั้นๆ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกป้องกันตัวเองของสมอง

 

โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) เกิดกับใครได้บ้าง?

          อย่างไรก็ตาม โรคหลายบุคลิกเป็นโรคที่พบได้ยาก แต่สามารถพบได้ในคนที่โดนทำร้ายอย่างรุนแรงและยาวนาน จะพบได้ในทุกช่วงวัยและมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนี้ อาการของผู้ป่วยอาจมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงอาการร้ายแรงที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการจะเริ่มแสดงออกในช่วงอายุ 21-30 ปี

 

โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) อาการเป็นอย่างไร

           ในแต่ละคน อาการและความรุนแรงของโรคหลายบุคลิกอาจแตกต่างออกไป บางรายตัวตนที่เพิ่มเข้ามาอาจไม่ได้อันตรายมาก แต่ในบางรายตัวตนที่เพิ่มเข้ามาอาจมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและอันตรายต่อตัวเองและคนรอบข้าง และในระหว่างที่เปลี่ยนไปเป็นอีกบุคลิก

ผู้ป่วยมักสูญเสียความทรงจำ จะไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง เรียกว่าจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย ช่วงเวลาที่เปลี่ยนบุคลิก สามารถเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ และอาจเกิดขึ้นเพียงนาที ชั่วโมง หรืออาจเป็นทั้งวัน

 

โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) อันตรายไหม

          ในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยเปลี่ยนบุคลิก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง บางครั้งอาจจะเปลี่ยนเป็นคนที่นิ่งขึ้นจากบุคลิกเดิม หรืออาจจะพูดเยอะขึ้น หรือบางครั้งอาจมีอาการที่ก้าวร้าวรุนแรง จนสามารถทำร้ายร่างกายของตัวเองและบุคคลอื่นที่อยู่รอบตัว

เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า บุคลิกไหนจะแสดงออกมาให้เราเห็นในสถานการณ์นั้นๆ ดังนั้นก็ถือว่า เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงมากๆ ทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและคนที่อยู่รอบข้าง 

 

โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) วิธีการรักษา

          อย่างไรก็ตามโรคหลายบุคลิกสามารถรักษาได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่รอบตัว ขึ้นอยู่กับคนรอบข้าง สภาพแวดล้อม และขึ้นอยู่กับการรักษาที่สม่ำเสมอ รักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยา การรักษาโดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับการทำจิตบำบัด บำบัดความคิด

ซึ่งต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆให้ผู้ป่วยยอมรับในตัวตนของตัวเองให้ได้ ไม่แสดงอาการต่อต้าน และแต่ละบุคลิกของผู้ป่วยจะค่อยๆกลืนรวมกัน กลับมาเป็นปกติ แต่ต้องใช้เวลา

 

          โดยสรุปแล้ว โรคหลายบุคลิก(Dissociative Identity Disorder) คือภาวะสุขภาพจิตที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกับบุคคลที่เผชิญกับปัญหาที่รุนแรง และอยู่กับเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเวลานาน เป็นโรคที่พบได้ยาก แต่ก็สามารถรักษาได้ อาจต้องใช้เวลารักษายาวนานและตัวผู้ป่วยเองก็ควรต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วย หากเกิดอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

psychologytoday

webmd

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube