Home
|
ไลฟ์สไตล์

4 กลุ่มโรคในฤดูฝนที่เราควรระวัง

Featured Image

          เขาว่าฝนมันทำให้คนเหงา นั้นจริงหรือป่าวนะ? ใกล้จะถึงเวลาโบกมือบ๊ายบายฤดูร้อนของประเทศไทยที่กำลังจะหายไป พร้อมกับต้อนรับฤดูฝนที่กำลังจะมาเยือนในเร็วๆนี้ (จริงๆต่อให้เป็นฤดูฝนในประเทศไทย อากาศก็ยังร้อนอบอ้าวไม่เปลี่ยนแปลง ทุกคนเห็นด้วยไหม) หลังจากที่คราวที่แล้วที่ทางทีม INN ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มาจากอากาศร้อน มาฝากทุกคนกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงเกี่ยวกับ โรคที่มาพร้อมฤดูฝน กันบ้างดีกว่า ว่าแต่จะมีกลุ่มโรคอะไรบ้าง ไปอ่านพร้อมๆกันเลย

          1.กลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

          สำหรับกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เรียกได้ว่าโรคกลุ่มนี้น่าจะเป็นโรคที่คนเป็นกันบ่อยในฤดูฝน อาการของโรคกลุ่มนี้จะมีตั้งแต่น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร บางคนเชื้อรุกรานเข้าไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่างทำให้ปอดอักเสบ คนที่เป็นโรคพวกนี้จะมีการไอมากและหอบ ซึ่งต้นเหตุหลักๆคือเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่ไม่ต้องกังวลไป การป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ทุกคนหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หมั่นล้างมือบ่อยๆ และต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อร่างกาย

          2.กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร

          สำหรับกลุ่มนี้ กลุ่มโรคที่พบบ่อยนั้นจะเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ โรคท้องเดิน เป็นต้น กลุ่มโรคเหล่านี้หลักๆเลยเกิดจากอาหารและน้ำดื่มที่เรารับประทานเข้าไปนั้นอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ เพราะแบบนี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ได้ง่าย อาการของโรคกลุ่มนี้จะมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายไม่หยุด อาเจียน บางรายเป็นหนักถึงขั้นขาดน้ำและหมดสติได้ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินให้มากเป็นพิเศษโดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆอยู่เสมอ ใช้ภาชนะใส่อาหารที่สะอาด และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

          3.กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง

          สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรืออีกชื่อที่ทุกคนรู้จักกันดีคือโรคฉี่หนู โรคนี้ที่กลุ่มคนส่วนใหญ่จะเป็นกันบ่อยนั้นจะเป็นชาวเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา และประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขัง สาเหตุหลักๆเลยโรคพวกนี้จะเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เชื้อโรคมักจะอาศัยอยู่ในดินที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำท่วมขัง น้ำเสียในท่อระบายน้ำ อาการของโรคจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง รวมถึงอาการตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด ถ้าหากเป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง เพราะฉะนั้นเราควรหาวิธีป้องกันโรคนี้ให้ดี โดยเริ่มหลีกเลี่ยงจากการเดินลุยในน้ำ ยิ่งถ้าใครต้องเดินทางไปทำงานแล้วชอบเดินลุยน้ำที่ขังนั้นต้องระวัง เพราะน้ำที่เราย่ำนั้นอาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆหรือเชื้อปัสสาวะจากสัตว์นำโรคโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นต้องหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆแนะนำให้สวมใส่รองเท้าบูทป้องกันทุกครั้ง 

          4.กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ

          โรคที่มียุงเป็นพาหะนั้นคงหนีไม่พ้นโรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ เจอี และโรคมาลาเรีย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนแบบนี้พวกยุงจะชอบแบบสุดๆเพราะเป็นช่วงที่ยุงจะเพาะพันธุ์ลูกน้ำในช่วงฤดูฝนนั่นเอง กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะไม่ว่าจะเป็นยุงลาย ยุงรำคาญ หรือยุงก้นปล่อง ส่วนใหญ่มักจะแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนาหรือภาชนะที่มีน้ำขัง อาการของกลุ่มคนที่เป็นโรคนี้จะมีไข้ มีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ หากเป็นหนักอาจถึงขั้นช็อค หมดสติและเสียชีวิตได้เลย ทางที่ดีจึงควรป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง รวมถึงต้องระวังตัวไม่ให้โดนยุงกัดให้ได้มากที่สุด  หลีกเลี่ยงการไปเที่ยวเดินป่าในหน้าฝน รวมทั้งพยายามอยู่ให้ห่างจากพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะๆด้วยจะดีมาก

          และนี่ก็คือ 4 กลุ่มโรคในฤดูฝนที่ทางทีม INN ได้นำมาฝากกัน ทีม INN อยากให้ทุกคนดูแลตัวเอง ยิ่งหน้าฝนแบบนี้ สภาพอากาศก็จะมีความชื้นสูง ต้องรักษาสุขภาพกันหน่อย หมั่นสวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากเวลาไอ หรือ ปิดจมูกเวลาจามกันด้วยนะทุกคน สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดทุกเรื่องอินเทรนด์ สามารถติดตามข่าว หรือ ไลฟ์สไตล์ต่างๆได้ที่ INN Lifestyle

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณข้อมูลและเนื้อหาจาก

โรงพยาบาลพญาไทย

โรงพยาบาลนครธน

กระทรวงสาธารณสุข

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube