“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” อดีตเลขาฯ กสทช. เสนอรัฐบาล “รีบเถอะครับ” ถึงเวลาต้องทำ โรงพยาบาลอัจฉริยะ Smart hospital อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ลดภาระงบประมาณ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก มีข้อเสนอถึงรัฐบาลให้เร่งสร้าง Smart hospital หรือ โรงพยาบาลอัจฉริยะ
นายฐากร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Takorn Tantasith ว่า “เร่งจัดทำโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart hospital) ช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น” “นับวันประเทศไทยต้องทุ่มเทงบประมาณด้านสาธารณสุข มากกว่าหนึ่งแสนล้านต่อปี
และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี ประกอบกับตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบจากข้อมูลเบื้องต้น มีคนไทยอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากร ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติที่ว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว”
“รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อพุ่ง น้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคา รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขอย่างหนักหน่วง”
“ขณะเดียวกันรัฐบาลนอกจากจะต้องดูแลค่ารักษาพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วๆไปแล้ว ยังจะต้องมาดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากอีก นอกจากจะเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นภาระกับประชาชนทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาหมอ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่การรักษาไม่ครอบคลุมสิทธิอีกต่างหาก”
นายฐากร ระบุว่า ประเทศไทยเดินหน้าเทคโนโลยี 5G ก่อนใครในกลุ่มอาเซียน ถ้ารัฐบาลเร่งเครื่องเดินหน้าให้ไทยมีระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะทั่วประเทศก่อนใครในอาเซียนอีกครั้ง จะเป็นอีกหลักชัยของรัฐบาลแน่นอน”โรงพยาบาลอัจฉริยะนอกจากจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคประชาชนและลดความเลื่อมล้ำในสังคมลงได้แล้ว จะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ดีขึ้นกว่าเดิม”
“ผมเสนอรัฐบาลเร่งจัดทำโรงพยาบาลนำร่องอัจฉริยะขึ้น “ภาคละหนึ่งจังหวัด”ก่อนโดยจังหวัดนำร่องดังกล่าวจะต้องจัดทำฐานข้อมูลของคนไข้ในจังหวัด ให้บูรณาการกันในจังหวัดให้ได้ ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดใด เดินทางไปรักษาที่ไหนในจังหวัดนั้น หากคนไข้ยินดีให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
โรงพยาบาลก็สามารถบูรณาการๆรักษาต่อเนื่องไปได้เลย” “ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ชื่อนายเอ มีประวัติคนไข้ (HN) ที่โรงพยาบาลอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีธุระเดินทางไปหาญาติที่อำเภอชนบท ขอนแก่น เกิดเจ็บป่วยไม่สบายที่อำเภอชนบท
หากคนไข้อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ เพียงแต่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวติดตัวไป ก็สามารถที่จะทราบประวัติการรักษาต่างๆของนายเอ ที่อำเภอน้ำพองได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปเจาะเลือดใหม่ คนไข้แพ้ยาอะไร คนไข้มีโรคประจำตัวอะไร คนไข้เคยใช้ยาอะไรรักษา เป็นต้น”
นายฐากร ชี้ว่า โครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ นอกจากภาครัฐจะประหยัดเงินในการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องไปเริ่มต้นการรักษาพยาบาลใหม่แล้ว ประชาชนเองก็ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆในการเดินทางมารักษาด้วย
“ขั้นตอนในการจัดทำโรงพยาบาลให้เป็นอัจฉริยะกล่าวคือ จะต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลคนไข้ให้กันได้ มีระบบสัญญาณ 5G ที่มีความเสถียรใช้งาน บุคคลากรทางการแพทย์ที่มีความพร้อม นอกจากนี้โรงพยาบาลใหญ่ๆในจังหวัดสามารถเปิดการรักษาผ่านระบบ 5G ได้เลย โดยหลายๆโรค คนไข้เพียงแค่เดินทางไปรอพบหมอผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ใกล้บ้านเท่านั้น
ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาลจังหวัดอีก ซึ่งการรักษาผ่านระบบ 5G จะเสมือนหนึ่งว่าคนไข้ได้พบหมอและตรวจรักษากับหมอโดยตรง หมอจะวินิจฉัยและวิเคราะห์ได้เลยเช่นโรคตา โรคความดัน โรคผิวหนัง โรคเบาหวานเป็นต้น”
“ผมอยากจะเสนอรัฐบาลรีบจัดทำเถอะครับ คัดเลือกจังหวัดนำร่องจังหวัดละภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าคัดเลือกจังหวัดขอนแก่นนำร่อง ก็ต้องบูรณาการฐานข้อมูลของคนไข้ทั้งจังหวัด จัดเตรียมสัญญาณอินเตอร์ความเร็วสูงระบบ 5G และบุคลากรให้พร้อมทุกโรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น ผมว่าทำได้ไม่ยากเลยครับ”
“ต่อไปประชาชนไปติดต่อโรงพยาบาลในจังหวัด นำไปแค่บัตรประชาชนเพียงใบเดียวก็สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงแล้วครับ หากทำโครงการนำร่องสำเร็จแล้ว ค่อยๆขยายไปจังหวัดอื่นเพิ่มเติม ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 3ปี ให้ทั้งประเทศเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะทั้งหมด ถ้าทำสำเร็จได้ตามนี้ มั่นใจได้เลยว่า คะแนนเสียงกลับมาตรึม”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews