ชี้จุดอ่อนสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
รองฯทวิดา ชี้จุดอ่อนสำนักป้องกันฯ จากบทเรียนน้ำท่วม เตรียมยกระดับมาตรฐานสากล
วันนี้ (29 พ.ย.65) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแผนปรับปรุงและแนวทางพัฒนาสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในอนาคต 3 เรื่องดังนี้ 1.การประสานงาน ในปัจจุบันพบว่า การตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากมีเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานรอบคอบมากขึ้นในแง่การจัดการสภาวะฉุกเฉิน กทม.มีแผนให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปรับเปลี่ยนการประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น อาสาสมัครในพื้นที่และหน่วยฉุกเฉินต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการทำงานที่ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น โดยการจัดระบบบุคลากรที่มี เพราะในสภาวะฉุกเฉินการมีบุคลากรเข้าไปในพื้นที่จำนวนมากก่อให้เกิดความวุ่นวาย
เนื่องจากสำนักป้องกันฯมีอาสาสมัครในเครือข่ายกว่า 60,000 คน แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองว่าแต่ละคนชำนาญด้านใด อยู่ในพื้นที่ใด และมีความพร้อมด้านอุปกรณ์มากน้อยแค่ไหน การขึ้นทะเบียนของอาสาสมัครจึงเป็นการจัดระเบียบทรัพยากรที่มีอยู่ให้พร้อมทำงาน ซึ่งจะต้องประสานกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตอย่างใกล้ชิด เพราะตามพระราชบัญญัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตมีฐานะเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจบัญชาการในเขตพื้นที่ตนเองในสภาวะฉุกเฉิน การประสานงานกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตจึงเป็นการทราบทิศทางในการทำงานมากขึ้น เช่น หน่วยฉุกเฉินจะได้ทราบว่าต้องเข้าพื้นที่ทางใด รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ การฟื้นฟูเยียวยา การช่วยเหลือต่างๆ โดยทั้งหมดนี้เรียกว่า ระบบในการจัดการในสภาวะฉุกเฉินตลอดจนการฟื้นฟูภายหลัง เป็นการยกระดับการช่วยเหลือให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น พร้อมกำกับดูแลอาสาสมัครไปในตัว
2.รศ.ดร.ทวิดา มองว่า งานบรรเทาสาธารณภัยถูกแบ่งขาดจากกันมากเกินไป จนทำให้งานในพื้นที่บางอย่างอาจไปขึ้นกับหน่วยงานอื่น เช่น อุทกภัยที่ผ่านมามีความเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของสำนักงานเขต ส่วนสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาภายหลัง ดังนั้น ควรมีแนวทางประสานงานกับกรมเจ้าท่า กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และสำนักระบายน้ำ
เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานให้สอดคล้องกัน รวมถึงประสานงานด้านข้อมูล เพื่อให้สำนักป้องกันฯสามารถเตรียมการล่วงหน้าก่อนฝนตกหรือน้ำท่วมได้ เพราะสิ่งที่จะตามมาคือ อาจมีผู้ป่วยติดเตียงในสภาวะฉุกเฉินแล้วหน่วยอนามัยไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ทัน ทางสำนักป้องกันฯ จะได้รู้บทบาทว่าต้องเตรียมรถลุยน้ำท่วมเพื่อวัตถุประสงค์ใดบ้าง
รวมถึงการจัดตั้งศูนย์พักพิงร่วมกับสำนักพัฒนาสังคม เหล่านี้ ควรมีการตกลงกันอย่างเป็นระบบให้ชัดเจนกับทุกสำนักเพื่อเป็นแผนดำเนินการล่วงหน้า เพราะที่ผ่านมามีความสับสนเรื่องบทบาทหน้าที่พอสมควร
“สำนักป้องกันฯ ต้องทำหน้าที่เป็นสมองในการกำกับทุกสำนักร่วมกับ ผอ.เขตในพื้นที่ เพราะจะทำให้การทำงานในสภาวะฉุกเฉินทำได้เร็ว ไม่วุ่นวาย ในกรณีภัยพิบัติ การทำงานซ้ำซ้อนดีกว่าตกหล่น ฉะนั้นการประสานงานกับหน่วยงานภายในและภายนอกสำคัญมาก”
3. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้มีหน้าที่แค่เรื่องฉุกเฉิน หากคำนึงถึงการป้องกันเป็นหลัก เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ได้เน้นแค่เรื่องมาตรฐานการทำงาน แผนเผชิญเหตุ การจัดการอาสาสมัคร การช่วยเหลือประชาชน แต่ยังเน้นเรื่องการแก้ไขความเสี่ยงและลดความไม่ปลอดภัยให้เหลือน้อยที่สุด
โดยมีแผนสร้าง Bangkok map ในอนาคต เพื่อรวบรวมจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาล จุดเสี่ยงไฟไหม้และสารเคมีอันตราย รวมถึงบรรจุข้อมูลกลุ่มเปราะบางแต่ละเขต เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก เส้นทางเข้าออกพื้นที่ โดยจะมีการประชุมนำข้อมูลของแต่ละสำนักงานเขตมาวิเคราะห์ว่าแต่ละพื้นที่เหมาะสมกับมาตรการแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
“แผนที่นี้จะมีลักษณะเรียลไทม์ ช่วยบริหารจัดการสภาวะเร่งด่วนไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่สามารถรู้ได้ว่าควรเข้าพื้นที่ทางไหน อย่างไร เพราะมีข้อมูลที่ตรงกัน สามารถรู้ล่วงหน้าและวางแผนจัดการได้เร็วขึ้น ไม่ติดขัด ฉะนั้น 3 เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่จะมีการดำเนินการต่อไป รวมถึงบทบาทของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะต้องไม่ใช่แค่เรื่องอัคคีภัยอย่างเดียว จะต้องทำได้ทุกภัยที่มาถึง”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews