ปธ.ศาลฎีกาเปิดโครงการ”ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย”
ประธานศาลฎีกาเปิดโครงการยกระดับการคุ้มครองผู้เสียหาย จัดตั้ง”ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย”สร้างสมดุลกระบวนการยุติธรรม
นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นประธานเปิดโครงการ”การยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา” เพื่อให้ศาลรับฟังและทราบถึงความประสงค์ของผู้เสียหายที่ต้องการการเยียวยาและดูแลแก้ไขความเดือดร้อน พร้อมกับจัดตั้ง”ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย” และยังเป็นการสร้างสมดุลกับการคุ้มครองผู้ต้องหาและจำเลย
โดยผู้เสียหายสามารถให้ข้อมูลตามแบบแสดงความประสงค์ได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ กรอกแบบแสดงความประสงค์ไปยัง ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย ผ่านทางเว็บไซด์ของศาลยุติธรรม ตลอด 24 ชั่วโมง, แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประจำศาลชั้นต้นทุกแห่งที่มีอำนาจพิพากษาคดีอาญาโดยไม่จำกัดว่าเป็นศาลที่มีเขตอำนาจหรือไม่, ดาวน์โหลด และพิมพ์แบบแจ้งความจากเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมและจัดส่งทางไปรษณีย์ มาที่ ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย สำนักกิจการคดี อาคารศาลอาญาชั้น 6 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
และกรณีมีการยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ฝากขัง หรือยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายสามารถแสดงความประสงค์ใช้สิทธิ์ที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ที่ศาลดังกล่าว
ขณะที่ นางอโนชา ชีวิตโสภณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่ามีหลายคดีที่ผู้เสียหายไม่ต้องการดำเนินคดี เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดเป็นคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ซึ่งศาลก็จะช่วยเหลือเยียวยา ด้วยการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น และความช่วยเหลืออื่น ๆ
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เผย การใช้ดุลยพินิจให้ประกันคดี ม.112 ระบุมีหลักกฎหมายอยู่ พิจารณาความหนักเบาของข้อหา
นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยกรณีที่ศาลพิจารณาไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีชุมนุมการเมือง รวมถึงการดำเนินคดีอาญามาตรา 112 ว่าขอให้ความเห็นเชิงวิชาการว่า เรื่องการปล่อยชั่วคราวนั้น กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมเราก็มีช่องทางไว้ เช่น การมาประกันตัวที่ศาลหรือว่าจะประกันตัวทางออนไลน์ ที่สื่อมวลชนก็พอจะทราบแล้ว
โดยเฉพาะนโยบายเรื่องประกันตัวโดยไม่ได้ใช้หลักประกัน ซึ่งเรามีหลักกฎหมายอยู่ เป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญาว่าจะพิจารณาจากเรื่องอะไรบ้าง เช่น ความหนักเบาของข้อหา พฤติการณ์ของคดีที่แต่ละคดีมีรายละเอียดแตกต่างกันอย่างไร
เมื่อถามว่า มองว่าการทำงานของศาลสอดคล้องไปแนวทางเดียวกับตำรวจจะชี้แจงอย่างไร นายเผ่าพันธ์ กล่าวว่า จะเรียกว่าชี้แจงก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เรียนให้ทราบว่าเป็นเรื่องของกฎหมายมากกว่าว่าศาลพิจารณาจากอะไร ซึ่งคำสั่งศาลทุกคำสั่งจะมีเหตุมีผลว่าจะให้ประกัน หรือไม่ให้ประกันพิจารณาจากอะไร เหตุผลที่ศาลให้ไปถ้าคู่ความ หรือผู้ต้องหาไม่เห็นพ้อง ไม่เห็นด้วยก็มีกระบวนการที่สามารถอุทธรณ์ได้ โดยเฉพาะเรืองการปล่อยชั่วคราว ปัจจุบันสามารถขอปล่อยชั่วคราวกี่ครั้งก็ได้ ถ้าพฤติการณ์หรืออะไรเปลี่ยนแปลงก็ขออีกได้ แต่เหตุผลของศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน พฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่ปรากฎ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news