Home
|
อาชญากรรม

กทม.ตั้งศูนย์ต่อต้านทุจริตในองค์กร

Featured Image
กทม.เอาจริง! จัดตั้ง 2 ศูนย์ต่อต้านการทุจริตในองค์กร

 

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในมิติบริหารจัดการดี ข้อ 56 ลดเสี่ยงโกงผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่ายประชาชน และข้อ 107 โปร่งใส ไม่ส่วย ด้วยเหตุนี้จึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) เพื่อเป็นหน่วยกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการดำเนินการลงพื้นที่ในเรื่องพิเศษ (เฉพาะกิจ) ในการสอบสวนจับกุม ตลอดจนวางแผนจับกุม

 

โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โดย กทม. ได้จัดตั้งห้อง War Room ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ณ ห้องประชุมสำนักงาน ก.ก. 3 ชั้น 5

 

สำหรับวงจรการปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ขั้นตอนการรับเรื่องจากแหล่งข้อมูล ซึ่งมีการรักษาความลับโดยการจำกัดรหัสเข้าถึงข้อมูล ปิดรายชื่อ/ดัดแปลงรายชื่อผู้แจ้งเบาะแส สำหรับขั้นตอนปฏิบัติการจะมีการตรวจสอบข้อมูลการทุจริตเบื้องต้น และศูนย์ฯ จะมอบหมายเจ้าหน้าที่ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ

 

จากนั้นจะเป็นการสอบสวนขยายผล วางแผนจับกุม (ถ้ามี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ตำรวจจาก บก.ปปป. และส่งต่อเพื่อดำเนินคดีอาญา พร้อมดำเนินการตามมาตรการทางการบริหารควบคู่กัน ซึ่งได้แก่ การย้ายออกจากพื้นที่โดยให้ประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร หรือให้ช่วยราชการที่หน่วยงานอื่น และดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน

 

ในวันนี้ (2 ก.พ. 66) ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผยว่า กิจกรรมที่ส่อทุจริต มี 9 กิจกรรม ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับผลประโยชน์ การยักยอกเงินเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีประเภทต่าง ๆ การนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว การเบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว

 

การจัดการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานที่เข้าข่ายการทุจริต การจ่ายเงินต่าง ๆ ที่เข้าข่ายการทุจริต การเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาที่เข้าข่ายการทุจริต และการแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งมีหน่วยงานที่เสี่ยงต่อการทุจริต 4 สายงาน ได้แก่ สายงานโยธา สายงานเทศกิจ สายงานรายได้ และสายงานสิ่งแวดล้อมฯ

 

“กทม.มีความตั้งใจอย่างจริงจัง ประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่อ่อนข้อหรือผ่อนปรนให้กับการทุจริต มีการจัดการขั้นเด็ดขาดที่สุด ส่วนตัวมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการทุจริตนั้นเป็นปัจจัยบุคคล อยู่ที่คุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึก ซึ่งถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรย้ำอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงว่าเกิดปัญหา จึงจะสามารถแก้ปัญหานั้นได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube