Home
|
อาชญากรรม

“อานนท์ นำภา”ขอช่วย”ไมค์-ไผ่”ถูกนำตัวออกนอกแดน

Featured Image
อานนท์ นำภา โพสต์เฟซบุ๊กจนท.พยายามนำตัว”ไผ่-ไมค์”ออกจากคุกไปตรวจโควิดเกรงอันตราย – เลขาฯรมว.ยธ. แจงนำไปตรวจเพราะมาจากเรือนจำพื้นที่เสี่ยง

เพจเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา โพสต์ข้อความระบุ “ด่วนที่สุด” ข้อความจากศาล 16 มี.ค. 2564 (ข้อความเป็นคำร้องที่เขียนต่อศาลเพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อาจจะรีบเขียนจึงลงวันที่ผิด)

อานนท์ นำภา จดหมายอานนท์

สำหรับข้อความดังกล่าว ถูกเขียนด้วยปากกาน้ำเงิน ลงลายมือชื่อของ นายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำร่วมกับแกนนำคนอื่นๆ ระบุว่า

เมื่อคืนนี้( 15 มี.ค.) เวลาประมาณ 21.30 ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัว ไผ่และไมค์ ไปควบคุมนอกแดน พวกเราไม่ยอมเพราะเป็นเวลาวิกาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กลับออกไปจากห้องขัง แล้วกลับมามากกว่าเดิมพร้อมกระบอง เวลา 23.45, 00.15 และ 02.30 โดยสองครั้งแรกเจ้าหน้าที่มาพร้อมเจ้าหน้าที่อีกชุดสีน้ำเงินเข้ม แต่ไม่ติดป้ายชื่อ และแจ้งว่าจะหาทั้งหมดไปตรวจโควิดพวกเราไม่ยอมเพราะวิสัยที่จะนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน

ภายใต้ข่าวลือว่าจะมีการส่งคนเข้าไปทำร้ายหมายเอาชีวิตพวกเราในเรือนจำ และเกรงจะเสียชีวิตเหมือนหมอยหยองและคนอื่นอื่น ผมไม่ได้นอนทั้งคืน เพราะเกรงอันตราย ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย

ลงลายมือชื่อ อานนท์ นำภา วันที่ 16 มี.ค.63 เรื่องเขียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้โทรศัพท์สอบถามไปยัง นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความแจ้งว่าเป็นจดหมายที่เจ้าตัวเขียนขึ้นจริงๆเนื่องจากขณะนี้ ถูกเบิกตัวมาอยู่ที่ศาลจึงเขียนด้วยลายมือตัวเองที่ศาล ซึ่งทนายอยู่ระหว่างเดินทางไปที่ศาลเช่นกัน

 

กฤษฎางค์

 

ทนายยืนยัน จดหมายที่ โพสต์ ลง FB ของอานนท์เป็นของจริง ปม “ไมค์-ไผ่” ถูกพยามนำตัวออกไปนอกแดนในยามวิกาล ถึง4 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

จากกรณีที่บัญชีเฟซบุ๊ก ของ อานนท์ นำภา ได้โพสต์ภาพจดหมาย เป็นจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า “เมื่อคืนนี้(15 มี.ค.) เวลาประมาณ 21.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัว ไผ่ และ ไมค์ ไปควบคุมนอกแดน พวกเราไม่ยอมเพราะเป็นเวลาวิกาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้กลับเข้ามาเวลา 23.45 น., 00.15 น. และ 02.30 น. พร้อมกระบอง โดยสองครั้งหลังเจ้าหน้าที่มาพร้อมเจ้าหน้าที่อีกชุดสีน้ำเงินเข้ม แต่ไม่ติดป้ายชื่อ และแจ้งว่าจะพาทั้งหมดไปตรวจโควิด พวกเราไม่ยอมเพราะผิดวิสัยที่จะนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน”

จากการสอบถาม ไปที่นายกฤษฎาง นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ทนายอานนท์ ได้เขียนเอาไว้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในยามวิกาลและสวมชุดสีน้ำเงินเข้ม ไม่ติดป้ายชื่อ โดยจดหมายฉบับดังกล่าว ทนายอานนท์ ได้เขียนที่ศาลอาญา เมื่อเช้านี้ ซึ่งมีการนัดสืบพยาน และในช่วงบ่ายตนจะไปพบนายอานนท์ แต่เบื้องต้นได้คุยกับทนายที่ไปศาลอาญายืนยันว่าเป็นจดหมายดังกล่าวเป็นจดหมายของนายอานนท์จริง

ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยให้นายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

เลขาฯรมว.ยุติธรรม แจงจดหมาย”อานนท์” ปัดอุ้มฆ่าแค่นำตัวไปตรวจโควิด เพราะมาจากเรือนจำพื้นที่เสี่ยง

ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีรัตน์ เลขานุการรมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายอานนท์ นำภา เขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองโดยมีเนื้อหาระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามนำตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ไปควบคุมนอกแดนในยามวิกาล จึงเกรงไม่ปลอดภัยต่อชีวิตว่า

ในเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สั่งการให้ตนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว และให้กรมราชทัณฑ์ทำรายงานรายละเอียดเรื่องราวที่เกิดขึ้น เบื้องต้น ทราบว่าจดหมายดังกล่าวนายอานนท์ เขียนขึ้นที่ศาลระหว่างทำหน้าที่ทนายว่าความในคดีอื่น และส่งให้เพื่อนนำไปโพสต์ในเพจส่วนตัวเนื่องจากไม่มีการอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์

ทั้งนี้ ข้อปฏิบัติการรับตัวผู้ต้องขังที่มาจากภายนอกทั้งที่ถูกเบิกตัวไปขึ้นศาล หรือไปรพ.ภายนอก ก็จะต้องถูกกักตัวในห้องกักโรคเป็นเวลา 14 วัน กรณีของไมค์และไผ่ ย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งเป็นย่านที่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดโควิด-19 จึงต้องมีการตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกันโควิด-19

“ในการตรวจคัดกรองโควิด-19 มีนพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ตรวจ กลุ่มที่ย้ายมาจากเรือนพิเศษธนบุรีมีทั้งหมด 9 คน บางคนไม่ยอมให้ตรวจทำให้ยังไม่มีการตรวจ

ทั้งนี้ การดูแลผู้ต้องขังคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมีคำสั่งให้ต้องมีการบันทึกเทป และเสียง ซึ่งเหตุการณ์วานนี้ก็มีการบันทึกไว้เช่นกัน ยืนยันการตรวจโควิด-19 ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน และไม่ได้เป็นการอุ้มฆ่า ในเรือนจำมีผู้ต้องขังจำนวนมาก ขนาดแตะตัวแกนนำยังไม่สามารถทำได้เลย”

เลขานุการ รมว.ยุติธรรม ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน ประกาศอดอาหารประท้วงที่ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวว่า เบื้องต้นตนจะไปถามว่าหิวหรือไม่ หากหิวก็จะจัดหาอาหารให้ พร้อมสอบถามเหตุที่ต้องประท้วงด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งการอดอาหารเป็นเวลานานแต่ยังดื่มน้ำก็คงไม่เป็นอะไรมาก แต่หากมีอาการป่วยเรือนจำก็ต้องนำส่ง รพ.ต่อไป

 

อานนท์ นำภา ราชทัณฑ์แจง

 

“ราชทัณฑ์ แจง นักโทษกลุ่มราษฎร 7 ราย ไม่ยินยอมให้ตรวจโควิด อ้างเกรงได้รับอันตรายในเรือนจำ

กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง กรณี เฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัว ของ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีการโพสต์ภาพข้อความที่เขียนด้วยลายมือระบุว่า เป็นการเขียนโดยนายอานนท์ฯ อ้างว่า ในคืนวันที่ 15 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการปฏิบัติงานที่ผิดปกติของเจ้าหน้าที่เรือนจำฯที่พยายามแยกตนเองออกจากกลุ่มผู้ต้องขังคนอื่นในยามวิกาล จนเกรงว่าจะได้รับอันตรายแก่ชีวิต นั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้ว ขอชี้แจงว่า เหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 15 มีนาคม 2564 ถึงเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2564 ภายหลังจากที่เรือนจำ
พิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับย้ายตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำราษฎร และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แกนนำกลุ่มWevo มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี เมื่อเวลาประมาณ18.40 น. เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจร่างกาย ก่อนนำตัวมาคุมขังพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นอีก 9 รายในห้องควบคุมผู้ต้องขังภายในแดนแรกรับ เพื่อแยกกักโรคตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมราชทัณฑ์

ต่อมาเมื่อเวลา 23.00 น.นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เข้ามาดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ต้องขังภายในห้องดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 ราย

แต่มีผู้ต้องขังที่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อเพียง 9 ราย และไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ 7 ราย คือ นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นายปิยรัฐ จงเทพ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา พร้อมพวก จึงต้องดำเนินการแยกกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าวรวม 7 คน ออกจากผู้ต้องขังที่ยินยอมรับการตรวจเชื้อ เพื่อเป็น การแยกกักกันโรคและสังเกตอาการเพิ่มเติมที่สถานพยาบาล ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทั้ง 7 คนดังกล่าว คือนายอานนท์ฯ พร้อมพวก ได้ปฏิเสธการย้ายที่คุมขังออกจากห้องกักกันโรคเดิมไปยังสถานพยาบาลโดยอ้างถึงความปลอดภัยเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องแยกกลุ่มผู้ต้องขังอีกกลุ่มที่ให้ความยินยอมในการตรวจหาเชื้อจำนวน 9 ราย ไปคุมขังที่ห้องกักกันโรคห้องอื่นแทน

โดยการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เรือนจำตามมาตรการของกรมราชทัณฑ์ ที่ต้องดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19และแยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ และรับย้ายทุกรายออกจากผู้ต้องขังอื่น เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

โดยขอยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดตามกฎ ระเบียบ และพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัดไม่สามารถกระทำการใดโดยพลการได้ อีกทั้ง การทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว

 

 

สมศักดิ์-เทพสุทิน-16-3-64 อานนท์ นำภา

“สมศักดิ์” เผย ยังไม่ได้รับรายงาน กรณีแกนนำราษฎรเกรงถูกทำร้ายหลังถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวออกนอกแดนยามวิกาล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการเผยแพร่จดหมายของนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และแกนนำราษฎร เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต หลังถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวออก นอกเเดนในยามวิกาล ว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ทราบและยังไม่ได้รับรายงาน เพราะเป็นเรื่องรายละเอียดที่ตนไม่ได้ติดตาม และยังไม่เคยได้ยิน เพราะตั้งแต่เช้าก็เตรียมตัวที่จะมาฉีดวัคซีน และประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นคงต้องให้เจ้าหน้าที่ว่ากันไป

ส่วนตามกฎของเรือนจำ สามารถนำตัวผู้ต้องขังออกไปนอกแดน ในยามวิกาลได้ หรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า ไม่ได้ยิน และไม่ทราบเรื่องระเบียบของเรือนจำ แต่ถ้ามีความจำเป็นก็เห็นยังเข้าออกในเวลากลางคืนได้ เช่น เวลาฝากขังก็เห็นทำได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำกันในยามวิกาล เพราะหากเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ก็ควรจะทำกลางวัน เว้นแต่มีกรณีจำเป็นเท่านั้น

ส่วนจะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีการนำจดหมายดังกล่าวมาเปิดเผยอย่างไรนั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบ ที่ผ่านมาก็มีประเด็นแบบนี้เรื่อยๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ทราบ ว่าเรื่องอะไรที่ควรจะชี้แจงบ้าง แต่ตนไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ในเรือนจำสามารถเขียนจดหมาย และส่งออกมาเผยแพร่ทางโซเชียลได้หรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า ต้องผ่านผู้คุม แต่ในกรณีนี้ไม่ทราบว่าผ่านหรือไม่ ส่วนเนื้อหาจดหมายตอนหนึ่ง อ้างว่า เจ้าหน้าที่จะนำตัวออกไปตรวจโควิด-19 เรื่องนี้ตนไม่ทราบ ถ้าเอารายละเอียดทุกประเด็นมาพูดคงสับสน ขอให้เจ้าหน้าที่ตอบถ้ามีกรณีดังกล่าวจริง เพราะถือเป็นหน้าที่ของเขา

 

นายกฯ 16-3-64-2

นายกฯ สั่งติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม หลังFB “ทนายอานนท์” เผยแพร่จดหมายอ้างถูกผู้คุมคุกคาม ย้ำยึดกฎหมายคุ้มครองผู้ต้องหา ถามทำตัวเองหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร มีการเผยแพร่จดหมายของ นายอานนท์ ที่อยู่ระหว่างการคุมขังในเรือนจำพิเศษ โดยใจความสำคัญในจดหมาย ระบุว่า “กลัวจะมีการถูกทำร้ายและเกรงว่าจะเสียชีวิตในเรือนจำเนื่องจากผู้คุมขอย้ายตัวแกนนำ ช่วงกลางดึก”

ซึ่ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้รับรายงานในเรื่องนี้แล้ว โดยได้เน้นย้ำ ให้ติดตามกรณีดังกล่าวพร้อมยืนยันว่าตามกฎหมายต้องให้การคุ้มครองผู้ต้องหา ตามหลักการอยู่แล้ว และได้สั่งการให้คุ้มครองอย่างที่สุด

ส่วนการกล่าวอ้างอะไรต้องมีหลักฐาน ตนเองจึงได้สั่งการให้ติดกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามเพื่อติดตามว่ามีผู้คุมขัง หรือเจ้าหน้าที่ได้กระทำตามจดหมายกล่าวอ้างหรือไม่ หรือ “ทำตัวเอง”

 

เลขาฯ รมว.ยธ. เปิดคลิป เหตุการณ์ระหว่างการเข้าพบ แกนนำม็อบราษฎร กลางดึก โชว์สื่อมวลชน ปัด จนท. พกกระบองเพื่อทำร้ายร่างกาย

ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคลิปที่เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร บันทึกภาพ และ เสียงระหว่างการเข้าพบแกนนำม็อบราษฏรกลางดึก มาชี้แจงต่อสื่อมวลชน ยืนยันว่า เป็นการดำเนินการตามปกติ เนื่องจากผู้ต้องขัง 3 คน ถูกย้ายตัวมาจากฝั่งธนบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานเพิ่งมีข่าวการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ที่ตลาดบางแค จึงเพิ่มมาตรการการป้องกัน เพราะเป็นห่วง เรื่องความปลอดภัย

ส่วนที่มีการเข้าตรวจสอบช่วงกลางดึก เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า การเข้าตรวจช่วงกลางวัน จะเกิดความยุ่งยากกว่า และที่กลุ่มแกนนำประสงค์ไม่ อยากตรวจ ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้

นอกจากนี้ เรื่องการพกพากระบองเข้าไป เป็นมาตรการปกติที่ต้องมีชุดเฝ้าระวังในการจัดชุดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจ สอบ ไม่เกี่ยวข้องกับการจะใช้กำลังทำร้ายร่างกาย

อีกทั้งภายในเรือนจำมีการบันทึกภาพวงจรปิดไว้ตลอด แต่หาก นายอานนท์ เห็นว่าตนเองถูกเจ้าหน้าที่ ทำร้าย หรือ ข่มขู่ ว่า จะทำร้ายร่างกาย สามารถใช้สิทธิในการแจ้งความดำเนินคดี หรือร้องทุกข์มายังตนได้ ซึ่งตนก็พร้อมให้ความเป็นธรรม

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube