ตร.ไซเบอร์ จับพนง.แบงก์ ขายเบอร์ลูกค้า ให้คอลเซ็นเตอร์
ตร.ไซเบอร์ จับหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อธนาคารลอบขายข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า พบหลุดไปถึงมือคอลเซ็นเตอร์
วันนี้ (15 ก.พ. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. หรือตำรวจไซเบอร์ แถลงผลปฏิบัติการจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ถึง 4 คดี ประกอบไปด้วย คดีจับเจ้าหน้าที่ธนาคารด้านสินเชื่อ นำข้อมูลส่วนบุคคลไปขาย, คดีจับกุมผู้ต้องหาเป็นธุระจัดหาพาคนไปเปิดบัญชีม้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน, และคดีจับกุมเครือข่ายการพนันออนไลน์
ในคดีแรก คดีการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ตำรวจไซเบอร์สามารถจับกุมผู้ต้องหาลักลอบขายข้อมูลส่วนบุคคลได้กว่า 9 ราย จากปฏิบัติการณ์ 7 ครั้งที่ผ่านมา ต่อมาได้ทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPC
จนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงินเอกชนแห่งหนึ่ง คือนายสุวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี ชาว จ.นนทบุรี มีพฤติการณ์ลักลอบนำข้อมูลของลูกค้าในสถาบันการเงินของตนเองมาดัดแปลง แก้ไขและจำหน่ายไปยังกลุ่มคนที่สนใจข้อมูล อาทิ ตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนประกัน และมีข้อมูลบางส่วนตกไปยังมือของกลุ่มมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ทางตำรวจไซเบอร์จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออำนาจศาลออกหมายจับนายสุวรรณในข้อหาล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลไปเปิดเผยแก่ผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และ ทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ตำรวจไซเบอร์ได้นำหมายค้นศาลจังหวัดนนทบุรี เข้าตรวจค้นบ้านพักของนายสุวรรณ ในพื้นที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี พบตัวนายสุวรรณพร้อมของกลางได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือที่เก็บไฟล์ภาพข้อมูลของลูกค้า
จากการสอบปากคำ นายสุวรรณยอมรับสารภาพว่า ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อในการประสานงานกับลูกค้า จึงเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ส่วนหนึ่ง ก่อนที่ทำการจดบันทึกและจัดทำเป็นไฟล์เอกสาร นำข้อมูลลูกค้าไปจำหน่ายให้แก่กลุ่มนายหน้าประกันหรือนายหน้าสินเชื่อของสถาบันการเงินอื่น ๆ โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จากนั้นนายสุวรรณจะทยอยนำรายชื่อลูกค้าเครดิตดีและมีชื่อเสียง ครั้งละ 3,000 ถึง 5,000 รายชื่อ ไปจำหน่ายต่อในราคาที่ละ 1 บาท ทำให้นายสุวรรณมีรายได้เพิ่มเติมในเดือนละหลายหมื่นบาท กระทำแบบนี้มาแล้วต่อเนื่อง 1-2 ปี หลังจากนั้นจึงได้ส่งตัว นายสุวรรณไปส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
คดีที่สอง คนไทยไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดน โดยสืบเนื่องจากตำรวจไซเบอร์ได้รับการประสานข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC และตำรวจ สภ.กุยบุรี สืบทราบว่า มีกลุ่มอดีตบัญชีม้า 6 ราย แจ้งความร้องทุกข์ว่า ถูก น.ส.กัญญานี หรือตุ้ง ชักชวนไปทำงานขายของออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง น.ส.ตุ้ง อ้างว่า จะอาสาออกค่าทำพาสปอร์ตและค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดให้ ทำให้กลุ่มผู้เสียหาย หลงเชื่อ ก่อนที่จะเดินทางไปยังบ้านเช่าแห่งหนึ่งใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งห่างจากชายแดนประมาณ 7-8 กิโลเมตรในวันที่ 6 มกราคม
จากนั้นนางสาวตุ้งก็เดินทางมาพบผู้เสียหายและพาข้ามชายแดนในวันที่ 7 มกราคม ไปยังอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในเมืองปอยเปต ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตร โดยอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวนั้นมี 3 ชั้น ชั้น 2 เป็นสถานที่ทำงาน ส่วนชั้นอื่นเป็นที่พัก มีคนไทยอยู่รวมกันประมาณ 30-40 คน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถือกระบองไฟฟ้าดูแลความเรียบร้อย โดยมีชาวจีนเป็นนายจ้างและเป็นหัวหน้าผู้ดูแล
ต่อมานายจ้างชาวจีนได้ยึดโทรศัพท์และสมุดบัญชีธนาคารของกลุ่มผู้เสียหายทั้งหมด แล้วให้โทรศัพท์มือถือใช้คนละ 1 เครื่อง บังคับให้เปิดบัญชีธนาคาร พร้อมสแกนใบหน้าคนละประมาณ 8-10 บัญชี และบังคับให้ทุกคนถ่ายโอนข้อมูล Application ธนาคารกับข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ไปยังโทรศัพท์ของนายจ้างชาวจีนทั้งหมดและถูกบังคับให้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์เรื่อยมา
ผ่านไปประมาณ 7-13 วัน ก็ทยอยปล่อยตัวกลุ่มผู้เสียหายกลับเมืองประเทศไทย ภายหลังกลุ่มผู้เสียหายทราบว่า ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเป็นบัญชีม้าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากกว่า 35 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 33 ล้านบาท จึงรวมตัวกันไปแจ้งความดำเนินคดีกับนางสาวตุ้ง จนกระทั่งวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ตำรวจไซเบอร์ร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสระแก้ว สามารถจับกุมนางสาวตุ้ง ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในข้อหาเป็นธุระจัดหาให้มีการซื้อขายบัญชีเงินฝาก เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ที่บริเวณด่านพรมแดนคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนนำตัวส่งตำรวจ สภ.กุยบุรี ดำเนินคดีต่อไป
ส่วนคดีที่ 3 นั้น ตำรวจไซเบอร์ได้สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับขบวนการลักลอบเล่นการพนันออนไลน์ โดยพบว่ามี 2 เครือข่ายรายใหญ่ ที่มีเงินหมุนเวียนรวมเดือนละกว่า 300 ล้านบาท มีพฤติการณ์เปิดให้เล่นการพนันออนไลน์ รวมทั้งชักชวนให้เล่นหวยของต่างประเทศ ได้แก่
เครือข่ายที่ 1 เครือข่าย ramruay.net เครือข่ายนี้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ทำความผิดได้ 7 ราย แบ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ 1 ราย, ผู้จัดการเรื่องการเงิน 3 ราย, และบัญชีม้า 3 ราย เครือข่ายนี้มีสมาชิกผู้เล่นมากกว่า 88,000 คน มียอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเครือข่ายนี้ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย เป็นกลุ่มผู้รับผลประโยชน์และผู้จัดการเรื่องเงินทั้งหมด จับกุมได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี พร้อมตรวจยึดของกลางเป็นเงินสด 10 ล้านบาท, Notebook และคอมพิวเตอร์ 10 เครื่อง, รถยนต์ 2 คัน, โทรศัพท์มือถือ 199 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร 34 เล่ม, ตู้เซฟ 1 ตู้, และทรัพย์สินมีมูลค่าอีกหลายรายการ
เครือข่ายที่ 2 เครือข่าย pok9.com เครือข่ายนี้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานจนออกหมายจับผู้กระทำความผิดจำนวน 6 ราย ได้แก่ ผู้จัดการและดูแลการเงิน 1 ราย และผู้ทำหน้าที่บัญชีมาอีก 5 ราย มีสมาชิกผู้เล่นกว่า 52,000 ราย พบยอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 100 ล้านบาท จนนำมาสู่การออกหมายค้นคอนโดจำนวน 5 แห่ง ได้ของกลางเป็นเงินสด 7 ล้านบาท, คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ 6 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร 4 เล่ม, บัตร ATM 13 ใบ, และทรัพย์สินอื่น ๆ อีกจำนวนมากรวมมูลค่ากว่า 40 ล้านบาท อีกทั้งสามารถจับกุมผู้ต้องหาเป็นผู้จัดการการเงินได้ 1 ราย ส่วนผู้ต้องหาจำนวนที่เหลือทั้ง 2 เครือข่าย อยู่ในระหว่างการขยายผลเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการจับกุมต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews