กทม.เปิดเงื่อนไข-เอกสารสมรสเท่าเทียม
กทม.เปิดเงื่อนไข-เอกสารสมรสเท่าเทียม ชวนยื่นคำร้องล่วงหน้า ก่อนบังคับใช้ 22 ม.ค.68
วันที่ 26 ธ.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมทั้ง 50 สำนักงานเขต ซึ่งจะเริ่มวันที่ 22 ม.ค.68 เป็นต้นไป ว่า การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมีเงื่อนไขและคุณสมบัติ ดังนี้
1.การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ โดยผู้เยาว์ (อายุไม่ถึง 18) จะทำการสมรสต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย
2.การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ 3.บุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิตโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
4.ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
5.บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
6.หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่กับชายได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ กรณีคลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น กรณีสมรสกับคู่สมรสเดิม กรณีมีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์
7.การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
โดยคู่สมรสสามารถจดทะเบียนสมรสได้ที่ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยใช้เอกสารในการจดทะเบียนสมรส ประกอบด้วย
1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น ThaiD กรณีผู้ยื่นคำร้องเป็นบุคคลซึ่งไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายหรือชาวต่างชาติ ให้เรียกตรวจบัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้ เช่น หนังสือเดินทาง หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้
2.หนังสือสัญญาก่อนสมรส (ถ้ามี) 3.หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส ที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดทะเบียนสมรส และไม่จำเป็นต้องแสดงรายการรับรองเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น รายได้ อาชีพ เป็นต้น (สำหรับชาวต่างชาติ)
4.หนังสือยินยอม กรณีผู้มีอำนาจปกครองของผู้เยาว์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี บริบูรณ์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่สามารถมายินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ 5.พยาน 2 คน ต้องเป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง นอกจากนี้ กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องแปลเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองนิติกรณ์เอกสารตามขั้นตอนของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
นางวันทนีย์ กล่าวว่า โดยสรุป ด้านเอกสารที่ใช้ในภาพรวม 1.กรณีผู้จดเบียนสมรสมีสัญชาติไทยทั้งคู่ ใช้บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น Thai ID และมีพยาน 2 คนที่บรรลุนิติภาวะ 2.กรณีคู่สมรสเป็นไทยกับต่างชาติ ใช้บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น Thai ID และมีพยาน 2 คนที่บรรลุนิติภาวะ มีหนังสือเดินทาง และเอกสารยืนยันจากสถานทูตว่าคู่สมรสไม่มีคู่สมรสอยู่
และอาจมีการทำข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาด้านต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สิน ก่อนการจดทะเบียนสมรส 3.กรณีคู่สมรสเป็นต่างชาติกับต่างชาติ ใช้หนังสือเดินทาง มีพยาน 2 คนที่บรรลุนิติภาวะ และเอกสารยืนยันจากสถานทูตว่าคู่สมรสไม่มีคู่สมรสอยู่
สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส ได้แก่ 1.ผู้ร้อง ยื่นคำร้อง คร.1 ต่อนายทะเบียน 2.นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมาย หลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วลงรายการในทะเบียนให้ครบถ้วน 3.ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัว 4.เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัวและจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ในระบบคอมพิวเตอร์
เบื้องต้นใช้เวลาการจดทะเบียนสมรสประมาณ 20 – 30 นาที ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการลงรายละเอียดของสัญญาก่อนสมรสว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายจะให้มีการบันทึกมากน้อยเพียงใด
โดยการจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท พร้อมจัดยานพาหนะให้ ถ้าผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร นอกจากนี้ ยังมีค่าการคัดสำเนา ฉบับละ 10 บาท
และเพื่อเป็นการไม่เสียเวลา สามารถลงทะเบียนยื่นคำร้องและเอกสารล่วงหน้าได้ที่ https://form.jotform.com/Bangkokpride2024/equal-marriage-registration-co…เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนถึงวันจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ม.ค.68 เป็นต้นไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews