กทม.เตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียปี 68
กทม.เตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียปี 68 หลังผ่านประชาพิจารณ์แล้วเสร็จ
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียกรุงเทพมหานครว่า หลังจากปรับแก้ร่างระเบียบและประกาศ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร และผ่านขั้นตอนการประชาพิจารณ์ครั้งล่าสุดแล้ว ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาด้านกฎหมายของ กทม. โดยมีรองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2568
โดยจะเริ่มเก็บค่าบำบัดน้ำเสียในแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ประเภทที่ 2 และ 3 ได้แก่ ประเภทที่ 2 (ก) หน่วยงานของรัฐหรืออาคารที่ทำการของเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศ (ข) มูลนิธิ ศาสนสถาน สถานสาธารณกุศล (ค) โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล (ง) โรงเรียนหรือสถานศึกษา (จ) สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลังหนึ่งปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึงหนึ่งปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ (ฉ) สถานที่ที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะคล้ายคลึงกันกับ (ก)
ถึง (ง) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึง ประเภทที่ 3 ได้แก่ (ก) โรงแรม (ข) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (ค) สถานประกอบการ ที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยย้อนหลังหนึ่งปีก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เกินกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หากกรณีที่ประกอบการไม่ถึงหนึ่งปี ให้ใช้ค่าเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ประกอบการ (ง) สถานที่ที่ใช้ประโยชน์ในลักษณะคล้ายคลึงกันกับ (ก) ถึง (ข) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ประเภทที่ 1 ได้แก่ (ก) บ้านเรือนที่พักอาศัยรวมถึงอาคารซึ่งโดยปกติบุคคลใช้อยู่อาศัยได้ทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยอย่างถาวรหรือชั่วคราว (ข) อาคารประเภทอาคารชุด คอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ หอพักรวมทั้งอาคารที่อยู่อาศัยรวม ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย 2 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เบื้องต้นยังไม่มีกำหนดการจัดเก็บ อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องใบแจ้งหนี้ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียกับการประปานครหลวง ทั้งนี้ การเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียคำนวณจากปริมาณการใช้น้ำประปาร้อยละ 80 คูณด้วยอัตราค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทแหล่งกำเนิดน้ำเสีย
นายวิศณุ กล่าวอีกว่า ในประเภทที่ 1 กทม.มีแผนจัดเก็บด้วยเช่นกัน แต่เหตุผลที่ยังไม่จัดเก็บคือ เนื่องจากการประปานครหลวงต้องการส่งข้อมูลผู้ใช้น้ำให้ กทม.ตามข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อให้ กทม.นำข้อมูลผู้ใช้น้ำไปออกใบแจ้งหนี้ค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียแยกต่างหาก ไม่รวมกับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปา เพราะเป็นการแจ้งหนี้ที่ต้องชำระคนละส่วนกัน เพื่อป้องกันปัญหาค้างชำระหนี้ภายหลัง ขณะที่ กทม.มีความประสงค์ใช้ใบแจ้งหนี้เดียวกันกับค่าน้ำประปา เพื่อความสะดวกของประชาชนในการชำระหนี้ จึงยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องนี้ โดยจะมีการหารือกับผู้ว่าการประปานครหลวงต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews