ปปง. แจง ทรัพย์สิน “บอสแซม-มิน” หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง
รองโฆษก ปปง. แจง ทรัพย์สิน”บอสแซม-มิน” หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้ เป็นขั้นตอนไปพิสูจน์ทางแพ่งในชั้นศาล ส่วนการคืนทรัพย์สินผู้เสียหาย ดิไอคอนฯ สามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานยืนยัน ความเสียหายได้ถึง 17 ก.พ.68
น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ให้สัมภาษณ์กรณี เปิดให้ผู้เสียหายรายคดี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ว่า ตามขั้นตอน การคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายแล้วจะต้องยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานต่างๆ
ซึ่ง ปปง.ชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยให้ระบุในคำร้องว่าได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าเท่าไหร่ รวมถึงเอกสารแจ้งความพฤติการณ์ในคดี ว่าได้รับความเสียหายอย่างไรและเป็นผู้เสียหายจริง ขณะที่ต้องยอมรับว่าในคดีดิไอคอนกรุ๊ปมีความเสียหายเป็นวงกว้างและมีรายละเอียดข้อมูล พยานหลักฐานต่างๆจำนวนมาก ต้องใช้ขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบ โดยสามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 17 ก.พ.68
ส่วนที่ เมื่อวานนี้บอสดาราประกอบด้วย นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ บอสแซม และ น.ส.พิชญา วัฒนามนตรี หรือ บอสมิน ได้รับการปล่อยตัวหลังอัยการคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้องนั้น ทรัพย์สินของทั้งคู่ที่ยึดมาได้ก่อนหน้านี้จะต้องทำอย่างไรต่อไป น.ส.สุปราณี ระบุว่า ต้องแบ่งเป็น 2 กรณี คือ คำสั่งไม่ฟ้องในส่วนคดีอาญา และการดำเนินการเรื่องทรัพย์สินในส่วนของคดีแพ่ง
ซึ่งในส่วนของทรัพย์สินไม่ได้ตัดสิทธิ์บุคคลที่เคยถูกดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินสามารถจะไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อที่จะเป็นขั้นตอนของการดำเนินการตรวจสอบว่าทรัพย์ดังกล่าวไม่ใข่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
ขณะที่ ปปง. จะต้องรอในส่วนของรายละเอียดเหตุผลคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการฯ หรือไม่นั้น ระบุว่า ในส่วนของการตรวจยึดอายัดทรัพย์ของ ปปง.สิ้นสุดแล้ว ซึ่งการโต้แย้งในเรื่องของทรัพย์สินนั้นเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในกระบวนการชั้นศาลแพ่ง เพื่อให้บุคคลนั้นไปยืนยันและโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเชื่อมโยงธุรกิจดิไอคอนกรุ๊ป
ส่วนการตรวจยึดอายัดทรัพย์ของปปง.ในกรณีที่อัยการฯ หรือศาลมีคำสั่งยกฟ้องจะมีกระทบหรือไม่ เห็นว่า การตรวจยึดอายัดทรัพย์ของ ปปง. ทั้งหมดเป็นไปตามกรอบของกฎหมายเพื่อที่จะหยุดยั้งการกระทำความผิด เป็นมาตรการการยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นตามลักสากล
ซึ่งขั้นตอนของการยึดทรัพย์ทางแพ่ง ตามกฎหมายการฟอกเงิน เป็นเรื่องที่เจ้าของทรัพย์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากความผิดทางอาญาที่เจ้าหน้าที่ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ในส่วนของทรัพย์สินดังกล่าว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews