หุ้นไทยจับตาโควิด-กรอบ1,550-1,615จุด
บล.กสิกรไทย มองกรอบดัชนี หุ้นไทย สัปดาห์หน้า มีแนวรับ 1,570 และ 1,550 จุด แนวต้าน1,600 และ 1,615 จุด จับตา สถานการณ์โควิด 19 คืบหน้าฉีดวัคซีน การเมืองไทย
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี หุ้นไทย สัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ค. มีแนวรับที่1,570 และ 1,550 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,615 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ และประเด็นการเมืองภายในประเทศ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนมิ.ย. และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15 – 16 มิ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือน มิ.ย. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของจีน ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. ของยูโรโซน
สำหรับหุ้นไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวน ก่อนจะร่วงลงแรงช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ ระดับ 1,578.49จุด ลดลง 0.26% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 78,743.86 ล้านบาท ลดลง 1.53% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.39% มาปิดที่ 505.52จุด
ทั้งนี้ กรอบการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยเป็นไปอย่างจำกัด เพราะแม้จะมีปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐที่เยียวยาลูกจ้างและผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดการทำกิจกรรมบางประเภท แรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มธนาคารก่อนการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 และการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ที่ช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยให้ขยับขึ้นในระหว่างสัปดาห์
แต่ก็มีปัจจัยลบ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แผนการฉีดวัคซีน ที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ คอยถ่วงหุ้นไทยตลอดสัปดาห์
กสิกรไทย เผย เงินบาท สัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 14 เดือน ขณะ 5-9 ก.ค. เคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.90-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ธนาคารกสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ค. อยู่ที่ 31.90 – 32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 และการฉีดวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนี PMI/ ISM ภาคบริการเดือนมิ.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน และอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนพ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย.
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทในกรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าผ่านแนว 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 14 เดือนที่ 32.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ท่ามกลางความกังวลต่อการควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศ ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติม จากข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่บันทึกยอดขาดดุลต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด อาทิ ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.
โดยในวันศุกร์ ที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 มิ.ย.)
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news