สนค.แนะผู้ส่งออกติดตามมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด
สนค.แนะผู้ส่งออกติดตามมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หาแนวทางป้องกัน ก่อนกระทบการค้า
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ AD เพิ่มขึ้น และเป็นการใช้มาตรการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองถึงเกือบร้อยละ 80 และจากสถิติการไต่สวนการทุ่มตลาด และการใช้มาตรการ AD ของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)ระหว่างปี 2538 – 2563 พบว่า การเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2561 โดยในปี 2563 มีการไต่สวน 349 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า
เมื่อเทียบกับปี 2538 โดยจีนเป็นประเทศที่ถูกไต่สวนและถูกใช้มาตรการ AD มากที่สุดใน WTO รองลงมา ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขณะที่ไทย อยู่อันดับที่ 6 ส่วนอินเดียเป็นประเทศที่ใช้มาตรการ AD มากที่สุดใน WTO ตามด้วย สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่ใช้มาตรการ AD กับไทยมากที่สุด ในส่วนของไทย มีการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดแล้วรวม 97 ครั้ง อยู่อันดับที่ 17 ของ WTO และอันดับที่ 3 ของอาเซียน โดยประเทศที่ถูกไทยไต่สวนการทุ่มตลาด และใช้มาตรการ AD สูงสุด ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน
โดย สนค. เห็นว่า จำนวนการใช้มาตรการ AD ของสมาชิก WTO มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวในเชิงรุก เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการถูกประเทศคู่ค้าเก็บอากร AD
ซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้น และส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกของไทย ไปยังประเทศนั้น ๆ ตลอดจนอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และเพื่อป้องกันการถูกเรียกเก็บอากร AD หรือลดโอกาสที่จะถูกเรียกเก็บอากร AD ในอัตราสูง ผู้ส่งออกสามารถดำเนินการดังนี้ คือ จัดทำระบบการบันทึกต้นทุน และราคาเป็นรายสินค้า สำหรับใช้ในการคำนวณมูลค่าปกติและราคาส่งออก ทดลองตอบแบบสอบถามจำลอง
เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งคำตอบแก่หน่วยงานไต่สวน ปรับปรุงและทบทวนการบันทึกต้นทุน ราคา และรายการวัสดุให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดส่วนต่างของราคาระหว่างตลาดได้ง่ายขึ้น ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาและอัตราแลกเปลี่ยน
เพื่อตรวจสอบว่า ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศหรือไม่ อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศหรือไม่และจะสามารถปรับราคาให้อยู่ในระดับเดียวกันได้อย่างไร หลีกเลี่ยงการขายสินค้าส่งออกในราคาต่ำกว่าปกติ หรือการขายสินค้าในประเทศที่ราคาแพงกว่าปกติ เนื่องจากราคาที่ต่างกันมากจะมีผลต่อการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดและ ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานไต่สวนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดมีความถูกต้อง และเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศผู้นำเข้าไว้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news