สนค.แนะผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว รับเทรนด์ดิจิทัล,ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ดันแนวคิด BCG Zero Carbon หนุนส่งออก
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยว่า กระแสการเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) และการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ของทั่วโลก เป็น 2 เทรนด์สำคัญที่เร่งรัดให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเร็วขึ้น และมีผลต่อรูปแบบและทิศทางการค้าระหว่างประเทศอย่างชัดเจนในบริบทการค้าแนวใหม่ โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างมีเป้าหมายการลดการปล่อย
ก๊าซคาร์บอนอย่างแน่วแน่ ซึ่งการค้าในช่วงเวลาต่อจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าปลายทางจะคำนึงถึงกระบวนการผลิตสินค้า และกำหนดกฎระเบียบ ซึ่งจะอยู่ในลักษณะเป็นมาตรการหรืออุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures/Barriers) อย่างจริงจังในเวลาอันใกล้นี้
โดยการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เห็นเด่นชัดมากขึ้นจากที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายธุรกิจนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการในองค์กร ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการทำงาน WFH และการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้สินค้าอุปกรณ์ไอทีเข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด และคาดว่าตลาดโลกจะมีความต้องการสินค้าที่มีนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งทำให้ไทยจะต้องพัฒนาและสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ และผลักดันรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ช่องทางการค้าเปลี่ยนไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น
และสำหรับการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ถือเป็นกระแสสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากในขณะนี้ เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างสิ้นเปลือง และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ จึงประกาศเจตนารมณ์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)
นอกจากนี้ ไทยยังได้ผลักดันวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG (ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว) ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 ด้วยยิ่งไปกว่านั้น การมีเป้าหมายบรรลุ Net Zero Carbon ของประเทศต่างๆ ทำให้ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว หันมามีมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้ สหภาพยุโรปมีแนวทางชัดเจนที่จะใช้มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน อย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่ถึง 5 ปีข้างหน้า โดยต้องมีการแสดงเอกสารปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้า หรือที่เรียกว่า “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือ CBAM certificates” และเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่กำหนด
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนและผลักดันภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยให้สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย สนค. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ ได้เล็งเห็นแล้วว่า ทิศทางการส่งเสริมสินค้าส่งออกในบริบทการค้าแนวใหม่ควรจะผลักดันและสนับสนุนการผลิตและส่งออกสินค้า ภายใต้แนวคิด “BCG Zero Carbon” และอาจพัฒนาไปสู่การเป็น BCG Climate Positive ให้เกิดขึ้นในระยะยาวได้ (กล่าวคือ การเป็นประเทศที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เพื่อให้สามารถสอดรับได้ทั้งโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศที่อาจจะมีผลต่อการส่งออกไทยในอนาคต
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news