สนค. ย้ำ มาตรการช่วยค่าครองชีพรัฐ ลดผลกระทบเงินเฟ้อ จากราคาน้ำมัน,ผักสดสูงขึ้นได้ ศก.มีเสถียรภาพมากขึ้น
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค.กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่หลายภาคส่วนมีความกังวลต่อดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือ อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.38 ว่า เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาดูแลราคาโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและคาดว่าในระยะต่อไปราคาน้ำมันจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก และยังมีสินค้าในกลุ่มผักสดซึ่งพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยราคาจึงขยับตัวสูงขึ้นแต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้น เนื่องจากในช่วงต่อไปจะมีผลผลิตผักตามฤดูกาลและที่ปลูกเพิ่มหลังน้ำท่วมคลี่คลายออกสู่ตลาดมากขึ้น
และมาตรการลดค่าครองชีพในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่เร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการจัดส่งรถโมบายนำผักสดราคาถูกออกจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลและยังมีการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการพาณิชย์ลดราคาเพื่อประชาชน มีส่วนช่วยลดภาระค่าครองชีพ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้ในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมาตรการของภาครัฐอื่นๆที่ดูแลค่าครองชีพทั้งการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่งการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าสาธารณูปโภค รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ
โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.99 ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ระหว่างร้อยละ 1.0-3.0 แสดงให้เห็นว่า ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ และยังมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ สนค. ประเมินว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2564 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.8-1.2 ค่ากลางอยู่ที่ ร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news