กยท.คาดพ.ย.-ธ.ค.ผลผลิตยางลดลงจากอากาศแปรปรวน
กยท. เปิดเวที “Talk About Rubber” เคาะ สถานการณ์ยางไตรมาส 4 ปีนี้ คาดช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ได้ผลผลิตลดลง เพราะอากาศแปรปรวน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นครั้งแรก โดยจะจัดขึ้นทุกเดือน ที่ 2 ของทุกไตรมาส เพื่อสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา โดยครั้งนี้พูดถึงประเด็นสถานการณ์ยาง ราคายางในไตรมาสที่ 4 ปี และ โรคใบร่วงยางพารา สำหรับทิศทางของการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. ในปี 2565
มี 3 ประเด็นที่กยท.ให้ความสำคัญ ได้แก่ การศึกษาเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SECri) เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมความเป็นเลิศศึกษา เขตภาคใต้ตอนกลางเพื่อเป็นพื้นที่บริหารจัดการตั้งแต่สวนยาง โรงงานแปรรูปยาง รวมไปถึงพื้นที่สำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยาง โดยทำการศึกษาต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยาง Rubberway เป็นการวางแนวทางในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต รวมถึงการปรับปรุงการทำงานของเกษตรกรรายย่อยในประเทศให้ผลิตยางตามแนวทางที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาเบื้องต้นที่ จ.สงขลา ร่วมกับมิชชลิน และเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งยางเป็นพืชที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่การปลูกยางแต่เป็นการจัดการสวนยาง กิจกรรมในสวนยางตามมาตรฐาน สำหรับจำหน่ายคาร์บอนเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
ด้านนางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ถึงสถานการณ์และราคายางในช่วงไตรมาสนี้ ว่า ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้คาดว่าผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่มีสภาวะลานีญา จึงทำให้ฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติและเป็นปีที่มีฝนมาก และในเดือน พ.ย.เกิดพายุฝนเขตร้อนซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเดือน ธ.ค. ยังมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10 จึงคาดว่าปริมาณผลผลิตยางที่ออกมาจริงจะน้อยกว่าที่คาด และคาดว่าผลผลิตของปี 64 มีประมาณ 4.6 ล้านตัน ลดลงประมาณ 1 แสนตัน ด้านปริมาณการส่งออกยางมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.ย.ส่งออก 3.38 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 12.43% ในขณะที่สต็อกยางทั้งของประเทศไทย และสต็อกยางจีน(ชินเต่า) มีแนวโน้มลดลงโดยสิ้นเดือน ซึ่งเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มียางเหลือในสต็อกประมาณ 4 แสนตัน จากช่วงต้นปีซึ่งมีสต็อกอยู่ประมาณ 7 แสนตัน
จากยอดผู้ฉีดวัคซีนในประเทศผู้ใช้ยางซึ่งมากกว่า 60% ของประชากรของแต่ละประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางเริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากตัวชี้วัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นโดย IMF ได้ปรับคาดการณ์ว่าปีนี้ GDP โลกจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ในส่วนประเทศผู้ใช้ยางหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4ไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และ PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ในเดือน ต.ค. ประเทศผู้ใช้ยางหลักทั้ง สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ค่าเงินบาท ในเทรนระยะยาวยังมีแนวโน้มอ่อนค่า และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์
ซึ่ง ANRPC ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ความต้องการใช้ยางจะมากกว่าการผลิต 3.29 แสนตัน กยท.จึงคาดว่าราคายางในเดือนพฤศจิกายนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในเดือนธันวาคม ซึ่งหากปลายปีปริมาณฝนลดลงอาจทำให้ผลผลิตยางมากขึ้น ราคายางย่อตัวลงเล็กน้อยผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวเพิ่มเติม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news