คปภ. สั่งปรับอาคเนย์ประกันภัยสูงสุด 1,858,400 บาท และ อีก 20,200 บาท/วัน ปมประวิงจ่ายค่าสินไหม “น้องหญิง” กรณีเสียชีวิตเหตุรถเบนซ์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ ที่บุรีรัมย์
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากที่ปรากฏเป็นข่าวที่ประชาชนสนใจเป็นอย่างมาก กรณีรถยนต์คันเอาประกันภัยไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิต ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคําพิพากษาถึงที่สุด ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ 1606/2564 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ว่าผู้เอาประกันภัยซึ่งขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนนทบุรี มีหนังสือแจ้งบริษัทประกันภัยให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว แต่บริษัทดังกล่าวโต้แย้งในข้อเท็จจริง จนต่อมามารดาของผู้เสียชีวิตได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง และสำนักงานฯ ได้มีหนังสือแจ้งความเห็นให้บริษัทฯ พิจารณาทบทวน ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่บริษัทยังยืนยันปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แม้ทราบว่าศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้นำกรณีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานเสนอแนวทางการกำหนดเกณฑ์ความผิดต่อเนื่องที่มีโทษปรับรายวัน ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบ ครั้งที่ 5/2564 วันที่ 7 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาจากพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ และเปิดโอกาสให้บริษัทชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงเหตุผล ตลอดจนให้นำส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการปฏิเสธไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันถือเป็นการให้ความเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดีความผิด พบว่าถ้อยคำโต้แย้งของบริษัทฯ ที่ปรากฏในชั้นการร้องเรียนค่าสินไหมทดแทนกับชั้นการชี้แจงข้อกล่าวหาต่อสำนักงานฯ มีข้อความขัดแย้งกันหลายประการ การที่บริษัทยังคงปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยกล่าวอ้างว่า ผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัยมิได้เป็นฝ่ายประมาท โดยไม่มีหลักฐานการโต้แย้งที่ชัดเจนและไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงไม่สามารถรับฟังได้ประกอบกับคำสั่งนายทะเบียนที่ 66/2563 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เรื่อง ให้ใช้คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก กำหนดให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก เมื่อผู้เอาประกันภัยเกิดความรับผิดชอบตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัยมีความผิดฐานกระทำโดยประมาท จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ตายมีส่วนประมาทแต่อย่างใด บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีเจตนารมณ์ในการรักษาเสถียรภาพธุรกิจประกันของไทยให้มีความมั่นคง ซึ่งต้องตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเรื่องร้องเรียนนี้มีประเด็นความขัดแย้งระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยที่บริษัทฯ ไม่อาจชี้ชัดหรือพิสูจน์ให้ชัดแจ้งได้ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้สูญเสีย ไม่ได้รับการเยียวยาจากความขัดแย้งที่บริษัทฯ หยิบยกขึ้นมา ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีคำตัดสินบนข้อเท็จจริงอันเป็นที่สุดแล้ว เช่นนี้ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่มีความชัดเจน ให้บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย อันเป็นความผิดฐานประวิงการจ่าย ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 36 อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คณะกรรมการเปรียบเทียบฯ จึงมีมติให้เปรียบเทียบปรับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในอัตราโทษสูงสุดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,858,400 บาท และปรับรายวัน วันละ 20,200 บาท จนกว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news