กระทรวงการคลังเตรียมปรับโครงสร้างภาษีเก็บเงินเข้ารัฐชดเชยรายได้ 2 ปี หายไปจากโควิด
จากการสัมมนายุทธศาสตร์สรรพสามิต ภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Next Normal นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชน กระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเดือดร้อน ได้มีการออกมาตรการทางการคลังดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง เราชนะ สินเชื่อสู้ภัย covid-19 การยืดเวลา และลดหย่อนการชำระภาษี แต่เวลานี้มองว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายดีขึ้นแม้จะมีโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเกิดขึ้นใหม่ แต่เนื่องจากมาตรการด้านสาธารณสุขที่มีความเข้มงวดเชื่อว่าจะสามารถรับมือได้ ประกอบกับความร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจทำให้สถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย
โดยการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวประชาชนมีความมั่นใจออกมาใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น มีผลต่อการจัดเก็บภาษีทำได้มากขึ้น ซึ่งทางกระทรวงการคลังมองว่าการปฏิรูปภาษีเพื่อความยั่งยืนของระบบการคลังของประเทศมีความจำเป็น เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องใช้เงินเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ไปเป็นจำนวนมากผ่านการตั้งกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เวลานี้เมื่อสภาพคล่องของธุรกิจดีขึ้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีของภาครัฐจะต้องปรับโครงสร้างให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นทั้งนี้เพื่อนำรายได้ไปใช้ในเรื่องของการจ่ายคืนเงินกู้
ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปกติในแต่ละปี กรมฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กรมหลักของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกรมที่สร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษี ในแต่ละปีมีเป้าหมายการจัดเก็บภาษีกว่า 500,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีการปรับเป้าหมายการจัดเก็บภาษีเป็น 600,000 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม พลังงาน ซึ่งจะมีความเข้มงวด มากยิ่งขึ้น โดยการจัดเก็บภาษีจะต้องสร้างความสมดุลให้ได้ระหว่างการจัดเก็บรายได้และการดูแลประชาชน ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมามาตรการภาษี มีการลดหย่อนและผ่อนปรนเป็นจำนวนมาก รวมถึงการชะลอขึ้นภาษีส่วนต่างๆ ส่งผลกับรายได้ของภาครัฐ เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลายมาตรการจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์สรรพสามิต ปี 6564-68 โดยในปี 2564-65 จะเป็นการเยียวยาและฟื้นฟูหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 การกำหนดนโยบายภาษีต่างๆ ต้องไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ในปี 2566-68 จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นโดยจะต้องมีการจัดเก็บภาษีและมีการ ปรับโครงสร้างที่เห็นได้อย่างชัดเจนขึ้น
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยภาคเอกชนในฐานะผู้เสียภาษีหลังจากที่ได้รับฟังความชัดเจนถึงแนวนโยบายในการจัดเก็บภาษีภาครัฐแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นถึงการทำงานร่วมกันและพร้อมที่จะขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการรับรู้และเข้าใจแผนในการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ จะทำให้ภาคเอกชนมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจ่ายภาษีได้อย่างเต็มที่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews