Home
|
เศรษฐกิจ

กพช.ไฟเขียวนำเงิน Take or Pay ช่วยลดค่าไฟ

Featured Image
รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ เผย ที่ประชุมกพช. เห็นชอบนำเงิน Take or Pay แหล่งก๊าซฯเมียนมา 1.36 หมื่นล้านบาท หนุนลดค่า Ft ช่วยประชาชนช่วงโควิด-19

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบการจัดสรรผลประโยชน์บัญชี Take or Pay แหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมา โดยให้นําเงินผลประโยชน์ของบัญชี Take or Pay ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 จํานวน 13,594 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการคืนภาครัฐทั้งหมดไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)

 

โดยนําส่งเงินและลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว

 

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) โดยจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ราคา LNG Benchmark สำหรับกลุ่ม Regulated Market ต่อไป

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ยังเปิดเผยเกี่ยวกับที่ประชุม กพช. มีมติเห็นชอบโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า และสามารถนำการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response: DR) มาทดแทนโรงไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดในประเทศไทย ในระยะปานกลาง ปี 2565 – 2574 รวมถึงรองรับพลังงงานหมุนเวียนตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ

 

ที่ประชุม กพช. จึงมีมติเห็นชอบโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดปี 2565 – 2566 50 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนำร่องการตอบสนองด้านโหลดให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมขยายผลตามแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 – 2574 ต่อไป

 

นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอโดยอาจเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการอื่นใดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้สถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ช่วงเปลี่ยนผ่านมีความต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebookhttps://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitterhttps://twitter.com/innnews

Youtubehttps://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTokhttps://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account@innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube