ธนาคารแห่งประเทศไทย เผย เศรษฐกิจไทยธ.ค.64 ไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้น ส่งออก ท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศหนุน
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งจากปัญหาการหยุดชะงักของภาคการผลิตที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน2564 ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนปรับดีขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมในภาคบริการปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้น
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเพราะได้รับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และปัญหาการขนส่งคลี่คลายทำให้มีการผลิตและเร่งส่งออกตามคำสั่งซื้อที่คงค้างในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเร่งขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังไม่มาก เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่
ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ปรับดีขึ้น
ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์ตามอุปสงค์ในประเทศที่สูงขึ้น และหมวดยานยนต์ที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คลี่คลายลงจากการที่ได้รับจัดสรรจากผู้ผลิตในต่างประเทศ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่มีการเร่งนำเข้าในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง
การนำเข้าหมวดสำคัญอื่น ๆ ทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวหลังจากเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้วในช่วงต้นปีงบประมาณ 65
อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง จากแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประกอบกับมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews