Home
|
เศรษฐกิจ

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตฯพุ่ง 5 เดือนติด

Featured Image
ส.อ.ท.เผย ความต้องการสินค้า,รัฐผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด ดันดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ม.ค.แตะระดับ 88.0 ฟื้นต่อเนื่อง 5 เดือนติด จี้รัฐแก้ปัญหาค่าครองชีพ,ตรึงดีเซล,คุมเงินเฟ้อ

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 88.0 โดยเป็นดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเป็นดัชนีที่ใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯปรับตัวดีขึ้นนั้นมาจากความต้องการในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงสะท้อนจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงดำเนินต่อไปได้แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับแรงงานและประชาชนทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดถือว่าไม่รุนแรงเหมือนกับช่องก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้าขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่คลี่คลาย

โดยภาคเอกชน ต้องการให้รัฐบาลควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน อาทิ มาตรการลดค่าสาธารณูปโภค ลดราคาก๊าซหุงต้มและการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง นอกจากนี้ยังต้องการให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมถึงการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบที่ขาดแคลน เพื่อลดภาระด้านต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและเร่งออกมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าและฟื้นตัวต่อไปได้

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube