กระทรวงการคลัง เปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ช่วง 1 – 19 กุมภาพันธ์ 2564
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. แถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ว่า การเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโดยมีรุ่นเราชนะบนวอลเล็ต สบม. วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 และรุ่นเราชนะ วงเงินจำหน่าย 55,000 ล้านบาท โดยเป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ตั้งแต่วันที่ 5 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกวันที่ 5-15 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.50 ต่อปี รอบที่ 2 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวง การคลังกำหนด รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.80 ต่อปี
นางแพตริเซีย ยังกล่าวว่า จากแผนการกู้เงินตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยืนยันว่าในปีงบประมาณ 64 ยืนยันว่าหนี้สาธารณะจะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินและการคลัง ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อจีดีพีแน่นอน ซึ่งจากประมาณการณ์คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 56 ต่อจีดีพีเท่านั้น
ส่วนความคืบหน้าของพ.ร.ก.กู้เงิน 3 แผน วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นั้น หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. อนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 711,607 ล้านบาท โดยทาง สบน. กู้แล้วทั้งสิ้น 393,761 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้กังวล เพราะรัฐบาลมีความจำเป็นและต้องทำ ซึ่งปัจจุบันยังบริหารได้ดี รวมทั้งหนี้สาธารณะถือเป็นวงเงินเดียวที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งทั่วโลกก็ทำกันตอนนี้ในช่วงโควิด-19
นอกจากนี้ นางแพตริเซีย ยังกล่าวถึงกรณีของของสถานภาพของธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน หรือ KTB ว่า หากพิจารณาตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ยืนยันว่า ธนาคารกรุงไทย จะเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจาก หน่วยงานของรัฐ ถือหุ้นหรือมีทุนรวมด้วยเกินร้อยละ 50 และยังเข้าเกณฑ์อื่นๆด้วยแต่หนี้ของธนาคารกรุงไทย จะไม่จัดเป็นหนี้สาธารณะ เนื่องจากหนี้ทั้งหมดที่มีทางกระทรวงการคลังไม่ได้เข้าไปค้ำประกันจึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ
แต่ทั้งนี้ หากพิจารณาตามกฎหมายอื่น ทั้ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ จะจัดให้ธนาคารกรุงไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น ต้องไปพิจารณาของข้อกำหนดกฎหมายของแต่ละฉบับ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews