ก.แรงงานคุยเอกชนนำต่างด้าว 3 สัญชาติเข้าไทยผ่านระบบ MOU ห่วงค่าใช้จ่ายสูง ฉีดวัคซีนกักตัวแนะใช้ Test&go
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลัง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ หน่วยงานด้านความมั่นคงและภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ว่า หลังจากกระทรวงแรงงานดำเนินการผลักดันให้เกิดการจ้างแรงงาน 3 สัญชาติผ่านระบบ MOU ปัจจุบันยังคงมีปัญหาจากประเทศต้นทาง โดยเฉพาะแรงงานจากฝั่งเมียนมาเนื่องจากในประเทศเมียนมายังคงเผชิญกับปัญหาทางการเมือง จึงยังไม่มีแรงงานเมียนมาเดินทางเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย
ส่วนตัวแรงงานจาก สปป.ลาว ทางการของ สปป.อยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อนำส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทย ส่วนแรงงานกัมพูชาเดินทางเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยแล้วประมาณ 300-400 คน
โดยหลังจากนี้จะปรับวิธีการประสานงานกับประเทศต้นทางทั้ง 3 ประเทศ ด้วยการประสานโดยตรงระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ของแต่ละประเทศ จากเดิมที่เป็นการประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐระหว่างกัน เพื่อผลักดันให้ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆเร็วขึ้น
นอกจากนี้ภาคเอกชนยังคงเป็นห่วงและร้องขอให้มีการปรับค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านระบบ MOU โดยเฉพาะขั้นตอนการกักตัว ทั้งกรณีที่แรงงานต่างด้าวฉีดวัคซีนแล้ว ต้องกักตัว 7 วันและไม่ฉีดวัคซีนต้องกักตัว 14 วัน โดยกรมการจัดหางานจะนำข้อเสนอของภาคเอกชนหารือกับ ศบค. ถึงความเป็นไปได้ในการนำเข้าแรงงานผ่านเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านระบบ MOU ที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเข้าประเทศไทยได้ผ่านระบบ test&go
อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางาน เตรียมแนวทางบริหารจัดการแรงงาน 3 สัญชาติไว้แล้ว คือการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างตาม MOU โดยเปิดให้นายจ้างที่มีความพร้อมยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีการยื่นคำร้องเข้ามาแล้ว จำนวน 1,813 คำร้อง ต้องการแรงงานต่างด้าว จำนวน 113,717 คน
การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปี 2565 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 – 31 ธ.ค. 65 จำนวน 106,580 คน สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
และการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 หรือ การทำงานในพื้นที่ชายแดน 9 จังหวัด โดยเริ่มนำร่องในจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดแรก ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 ธ.ค. 2564
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews