กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่าง หวังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำหลาก และภัยแล้ง คาดเก็บกักน้ำได้รวมกันกว่า 39 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 200,000 ไร่ ในเขต จ.พิษณุโลกและพิจิตร
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง 4 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่ไหลมาจากพื้นที่ตอนบน ได้แก่ ประตูระบายน้ำ(ปตร.)ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปตร.ท่าแห อ.สามง่าม จ.พิจิตร ปตร.บ้านวังจิก และ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้รวมประมาณ 38.91 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ได้รับประโยชน์จากระบบชลประทานได้ 198,746 ไร่ อีกทั้งช่วยลดมวลน้ำหลากในช่วงฤดูฝน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าสะสมเฉลี่ยทั้งโครงการฯ รวมประมาณร้อยละ 44 ของแผนงาน
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำยม ยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดปัญหาทั้งอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของลุ่มน้ำยมตอนล่างเป็นประจำ ขณะเดียวกันสภาพภูมิประเทศของลุ่มน้ำยมตอนล่างไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาหรือสร้างอ่างเก็บน้ำได้ กรมชลประทาน จึงได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วง ๆ แบบขั้นบันได เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกร สามารถนำน้ำไปใช้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งลำน้ำ ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างฝายยาง และฝายคอนกรีต เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในลำน้ำยมตอนล่างจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ฝายพิจิตร ฝายพญาวัง บริเวณอำเภอโพทะเล ฝายสามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร สามารถบริหารจัดการน้ำได้รวม 22.61 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้ใช้ประโยชน์รวมประมาณ 111,000 ไร่
โดยในส่วนของฝายสามง่าม ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีสภาพชำรุดเสียหาย กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นฝายยางน้ำล้น สามารถเก็บกักน้ำได้ 11.47 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงเป็นฝายพับไฮดรอลิค สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 13.39 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการออุปโภคบริโภคและการปลูกพืชฤดูแล้ง ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากอีกด้วย มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 30,000 ไร่
“การพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้ข้อจำกัดของลักษณะภูมิประเทศในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแหล่งเก็บน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรและชุมชนที่อาศัยอยู่ตลอดลุ่มน้ำยมตอนล่างระยะทางกว่า 225 กิโลเมตร ได้ปริมาณน้ำรวม 61.52 ล้านลบ.ม. สามารถเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับราษฎร ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ในเขต จ.พิษณุโลก ได้แก่ ต.บางระกำ ต.วังอีทก ต.พันเสา ต.บ่อทอง ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ และอีก 1 ตำบลในเขต จ.พิจิตร คือ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม รวมพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นกว่า 300,000 ไร่” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews