Home
|
เศรษฐกิจ

“จุรินทร์” ถกแก้อาหารสัตว์แพงยังไร้ข้อสรุป

Featured Image
“จุรินทร์” เผย ประชุมแก้อาหารสัตว์แพง ยังไม่ได้ข้อสรุป รอผู้มีส่วนได้เสียเห็นชอบทุกฝ่าย สั่งครั้งหน้า 11 เม.ย. ต้องมีข้อสรุปทุกสมาคมต้องมาครบ

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ นบขพ. ครั้งแรกของปี 2565 ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยมีภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมนั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในเบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นร่วมกันในการเข้าไปดูแลราคาอาหารสัตว์ไม่ให้พุ่งสูงเกินไปจนเป็นภาระกับเกษตรกร ต่อเนื่องไปถึงผู้บริโภค จากราคาอาหารที่จะปรับสูงขึ้นตาม ขณะเดียวกันต้องไม่กระทบกับราคาสินค้าเกษตรในประเทศ โดยเฉพาะผู้ปลูกพืชไร่ทั้งข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องไม่ขาดแคลน แต่ยังไม่ถือเป็นข้อสรุปทั้งหมด เนื่องจากต้องรอความเห็นให้ครบทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งยังขาดความเห็นจากนายกสมาคมพืชไร่ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่ส่งเพียงตัวแทนมาเข้าร่วมประชุม

 

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ไปหาข้อสรุปร่วม 3 ฝ่าย อีกครั้งกับทุกสมาคมฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายในวันที่ 11 เมษายนนี้ ก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุม นบขพ. โดยเร็วที่สุดอีกครั้งสำหรับมาตรการในการดูแลราคาอาหารสัตว์ ซึ่งผ่านการหารือในเบื้องต้น คือ การชะลอมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี ต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 ของกระทรวงพาณิชย์ไว้ชั่วคราว เพราะช่วงนี้ ยังไม่ถึงฤดูกาลผลิตข้าวโพด จึงไม่กระทบกับเกษตรกร เพราะไม่มีข้าวโพดอยู่ในมือแล้ว เพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง ผ่อนคลายให้สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้โดยไม่ต้องซื้อข้าวโพดเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงนี้ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศสูงถึงกิโลกรัมละ 12 บาท ขณะที่ ราคาข้าวสาลี นำเข้า ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 30

 

 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพด ปี 2565 เงื่อนไขเดียวกับปี 2564 แต่ปรับปริมาณให้สอดคล้องกับปริมาณที่เป็นจริง เป้าหมาย 2 ล้านไร่ กำหนด 2 กลุ่ม คือ เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.กำหนดเบี้ยประกัน 160 บาทต่อไร่ ซึ่งรัฐบาล จะจ่ายให้ 96 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส.จ่ายให้ 64 บาทต่อไร่ ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.แต่สมัครใจประกันภัยข้าวโพด จะแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง เบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และความเสี่ยงต่ำ 90 บาทต่อไร่ ในส่วนที่รัฐ ต้องอุดหนุนคิดเป็นงบประมาณ 224 ล้านบาท โดยจะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube