ผู้เลี้ยงชี้หมูออกน้อย-ข้าวโพดขาด-น้ำมันแพงทำต้นทุนสูง
เกษตรกรใต้ ชี้หมูออกน้อย-ข้าวโพดขาดแคลน-น้ำมันแพงซ้ำ ทำต้นทุนขยับ ย้ำคนเลี้ยงรักษาราคาตามกลไก
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสุกรในขณะนี้ว่า จากผลกระทบของความกังวลต่อภาวะโรค ASF ในสุกร ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่เคยมีมากถึง 2 แสนรายทั่วประเทศ ลดลงไปมากกว่าครึ่ง เหลือเพียง 1 แสนรายเท่านั้น ส่งผลต่อประชากรสุกรทั้งแม่พันธุ์ ลูกสุกร และสุกรขุน หายไปมากกว่า 50% ขณะเดียวกัน สภาพอากาศแปรปรวนร้อนจัดสลับฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้สุกรปรับตัวไม่ได้ เกิดความเสียหายในทุกช่วงอายุ กลายเป็นวิกฤติซ้ำเติม ส่งผลให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลงยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหนัก จากการขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสำหรับสัตว์ รวมทั้งราคา กากถั่วเหลืองนำเข้า รำ ข้าว ฯลฯ ที่ปรับขึ้น รวมแล้วทำให้ต้นทุนสูงส่วนนี้ขึ้นไปประมาณ 30-40% และการที่รัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล กลายเป็นภาระต้นทุนทั้งในภาคการเลี้ยงสัตว์และภาคขนส่ง
“เกษตรกรขอความเข้าใจจากผู้บริโภค การที่ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปรับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม เป็นไปตามกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ ที่ปริมาณหมูมีชีวิตออกสู่ตลาดลดลงไปมาก ประมาณ 10-20% จากช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซ้ำยังมีต้นทุนอื่นๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาขึ้นไปแตะ 13 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ขณะที่น้ำมันปาล์มเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ก็ปรับราคาขึ้นแล้ว ต้นทุนส่วนนี้จึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอีกต้นทุนสำคัญอย่างน้ำมันดีเซลที่ใช้เดินมอเตอร์พัดลมในฟาร์ม และในภาคขนส่งก็ปรับขึ้นอีก ซึ่งคาดว่าที่สุดแล้วอาจขึ้นไปชนเพดานราคาที่ 35 บาทต่อลิตร กลายเป็นวิกฤติที่มีผลต่อต้นทุนการเลี้ยงหมูอย่างมาก อย่างไรก็ตามเกษตรกรทั่วประเทศ ยังคงให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการร่วมดูแลค่าครองชีพประชาชนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ต่อไป และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค ยังคงร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และผู้เชี่ยวชาญ ในการเดินหน้าให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงหมูได้อย่างมั่นใจ เพื่อเติมซัพพลายให้กลับมาสู่ระบบได้ตามที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้” นายปรีชากล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขาดแคลนนั้น แม้ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว (เดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565) และเพิ่มโควต้าการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเดิม 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565) หากแต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ต้นทุนการผู้เลี้ยงสุกรได้ เพราะเกษตรกรยังคงรับภาระ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และการเร่งฟื้นฟูการเลี้ยงหลังพบโรค ASF ซึ่งต้องใช้ต้นทุนด้านการป้องกันโรคมากกว่า 300 บาทต่อตัว
“การปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี คือคำตอบของราคาหมู ที่จะช่วยให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องในวงจร ทั้งภาคผู้เลี้ยงหมู ภาคเวชภัณฑ์ ยาสัตว์ ผู้เพาะปลูกพืชไร่ ชาวไร่ ชาวนา ตลอดห่วงโซ่สามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป กลไกตลาดจะปรับสมดุลได้เอง เมื่อสินค้ามีมากขึ้น ราคาก็อ่อนตัวลงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าธุรกิจไหนทุกคนต่างแข่งขัน ภาคผู้เลี้ยงก็เช่นกัน ที่มีทั้งผู้เลี้ยงรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ แข่งขันในตัวอยู่แล้ว แต่การเข้ามาควบคุม บิดเบือนราคา จะทำให้เกษตรกรต้องถอย เมื่อขายขาดทุนก็ต้องเลิกเลี้ยงไป ในที่สุดคนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนไทย ที่ต้องขาดแคลนอาหารโปรตีนจากเนื้อหมู” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews