หอการค้าไทย ย้ำผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าเท่าที่จำเป็น ห่วงกำลังซื้อ จับตาบะหมี่ต้องแย่งซื้อวัตถุดิบ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เวลานี้ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนของวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง ทำให้สินค้าบางรายการจำเป็นต้องขออนุญาตปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่การขยับราคาไม่ได้ส่งเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
หากเป็นสินค้าควบคุมการขึ้นราคาโดยพลการไม่สามารถทำได้ และถูกสั่งตรึงราคามาแล้ว 2 ปี และถ้าผลกระทบหนัก และยาวกว่านี้ หากไม่ให้ขึ้นราคาบางรายการผู้ประกอบการอาจต้องหยุดผลิตสินค้า กระทรวงทรวงพาณิชย์จึงพิจารณาอนุญาตให้เพิ่มราคาเป็นรายๆ ไป และแต่ละราย ไม่ได้ปรับราคาขึ้นเท่าต้นทุน เพราะรู้ดีว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก
สินค้านอกเหนือรายการควบคุมที่ไม่ได้เป็นสินค้าพื้นฐานในการดำรงชีพ ขึ้นอยู่กับการแข่งขันในตลาดหากเป็นสินค้าที่มีการผลิตน้อยราย สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ตามต้นทุนแต่ก็มีน้อยมาก โดยการปรับขึ้นราคาเวลานี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5-10 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจริงของผู้ประกอบการนั้นเฉลี่ยร้อยละ 31-50 แต่เฉพาะต้นทุนบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ถึงปัจจุบัน ต้นทุนพุ่งขึ้นร้อยละ 70
ในขณะที่ผู้ผลิต บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับผลกระทบจากข้าวสาลีมานานแล้ว ตั้งแต่วิกฤตรัสเซียยูเครน ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิตพื้นที่หาย ถูกปิดการขนส่ง ซึ่งทั้งสองประเทศมีส่วนกับข้าวสาลีทั่วโลกในสัดส่วน 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 25-30
ทำให้ประเทศที่เหลืออยู่ระดับราคาสูงขึ้น ต้องมีการแย่งซื้อในแหล่งผลิตที่เหลือและเมื่ออินเดียประกาศระงับการส่งออกยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น ซึ่งจะต้องจับตาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ว่าผู้ประกอบการจะมีการบริหารจัดการด้านต้นทุนอย่างไรบ้าง ซึ่งการเจรจาจัดหาวัตถุดิบอาจใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews