สนค.คาดอีก 1-2 เดือน วิกฤติน้ำมันปาล์มคลี่คลาย
สนค.คาดวิกฤติน้ำมันปาล์มจะคลี่คลายลงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกอีกครั้ง
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าน้ำมันปาล์มในประเทศ หลังมีราคาเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า การขยับขึ้นของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เกิดขึ้นจาก 4 สาเหตุหลักคือ การฟื้นตัวของความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดอินเดีย มาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในประเทศ ผลกระทบด้านพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันปาล์มผสมเป็นไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นในฐานะพลังงานทดแทน และ ผลกระทบจากภัยแล้งในแอฟริกาใต้ทำให้ปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองลดลง ภาคการผลิตอาหารส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องหันมาใช้น้ำมันปาล์มเป็นทางเลือกมากขึ้น
สำหรับประเด็นที่อินโดนีเซียประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นั้น สนค.ประเมินว่า แม้ว่าอินโดนีเซียจะเริ่มส่งออกน้ำมันปาล์มได้อีกครั้ง แต่คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกจะยังคงทรงตัวระดับสูงในระยะสั้น
โดยวิกฤติด้านราคาน่าจะคลี่คลายลงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าเมื่ออุปทานน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มที่ โดยคาดการณ์ว่าจะมีอุปทานน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้เนื่องจากมีผลผลิตปาล์มส่วนหนึ่งที่เกษตรกรเก็บไว้ในช่วงที่มีประกาศห้ามส่งออก เมื่อรวมกับผลผลิตปัจจุบันด้วยแล้ว ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่าจะมีอุปทานน้ำมันปาล์มเข้าสู่ระบบมากขึ้น
ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีการเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่แล้วประมาณ 5 ล้านตัน ขณะที่ความสามารถในการกักเก็บเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 6-7 ล้านตัน ซึ่งจะเต็มความจุภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียต้องหันกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้ง เพราะหากยังไม่มีการส่งออก ก็จะไม่มีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในช่วงถัดไป เมื่อผลผลิตล้นตลาดและไม่มีสถานที่เก็บสต็อกจะเกิดการเน่าเสีย นอกจากเหตุผลในด้านปริมาณส่วนเกินในตลาดอินโดนีเซียแล้ว การเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มเป็นเวลานาน ยังส่งผลให้น้ำมันปาล์มเสื่อมคุณภาพลงอย่างรวดเร็วด้วย
ทั้งนี้ จากสถิติด้านการผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียพบว่า อินโดนีเซียมีความสามารถในการผลิต 4 ล้านตันต่อเดือน ใช้บริโภคในประเทศเพียง 1.5 ล้านตันต่อเดือนเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะถูกส่งออกในปริมาณ 2.5 ล้านตันต่อเดือน ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าปริมาณน้ำมันปาล์มส่วนเกินเหล่านี้ และความสามารถในการเก็บสต๊อกที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินโดนีเซียต้องกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้งแต่ราคาอาจยังไม่ลดลงในทันที เนื่องจากข้อบังคับของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ยังกำหนดเพดานการส่งออกเพื่อป้องกันการขาดแคลนในประเทศ
ขณะเดียวกัน ในด้านอุปสงค์ของผู้นำเข้าจากอินเดียจีน และสหภาพยุโรปต่างคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันปาล์มในอนาคตจะอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ผู้นำเข้าส่วนหนึ่งชะลอการนำเข้าเพื่อรอราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ได้ชี้ให้เห็นถึงภาวะตลาดของน้ำมันปาล์มของไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 พบว่า ประเทศไทยมีสต็อกของน้ำมันปาล์มต่อเดือนอยู่ที่ระดับ 190,000-200,000 ตันซึ่งนอกจากจะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศแล้ว ไทยยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศได้อีกด้วย
โดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีมูลค่าส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 74.7 ของการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมดของไทยในไตรมาสแรก ปี 2565 ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย อยู่ที่ 54-55 บาทต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียที่ 55-56 บาทต่อลิตร นอกจากนี้การตึงตัวของอุปทานน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เป็นโอกาสการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยที่จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร และโรงกลั่น พร้อมทำความเข้าใจกับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความสมดุลของราคาที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ขณะที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ราคาดีที่สุด และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนในประเทศในระยะยาวต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews