Home
|
เศรษฐกิจ

กกร.ห่วงตปท.แทรกแซงเมียนมารอดูชัดเจน

Featured Image
กกร. ห่วงเมียนมาโดนแทรกแซง จากต่างประเทศ รอ 2-3 สัปดาห์ชัดเจนผลกระทบด้านการค้า ลงทุน – คงจีดีพีปีนี้ 1.5-3.5% ส่งออก 3-5%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. วันนี้ มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ หลังการยึดอำนาจในสหภาพเมียนมา โดยทางภาคเอกชน ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น ในเมียนมา และมีความเป็นห่วงถึงการแทรกแซงทางการเมือง จากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายภายใน มีผลต่อการค้า และการลงทุน ที่จะเกิดขึ้น โดยอุตสาหกรรรมของไทย ที่ลงทุนในเมียนม าเวลานี้ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง พลังงาน โรงแรม และ สถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม ทางภาคเอกชน จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเชื่อว่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้จะเห็นความคืบหน้าต่างๆจากรัฐบาลใหม่ชัดเจนขึ้น และมีความคาดหวังว่าข้อตกลงที่เมียนมาได้เคยทำไว้กับประชาคมโลก

รวมถึงประเทศไทยจะไม่ถูกยกเลิก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเวลานี้หากด่านการค้าชายแดนไม่ถูกปิดเชื่อว่า การค้าของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ

 

ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าชายแดน ค้านปิดด่านสิงขร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามสถานการณ์ และดำเนินการตามข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเมียนมา เพิ่มการเฝ้าระวัง ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมากขึ้น

ซึ่งในส่วนของจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นช่องทางการค้าระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการระงับการเข้า-ออกของบุคคล ยานพาหนะ และการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทุกประเภทเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิ-19 แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเมียนมาที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปัจจุบัน จึงมีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ผ่อนผันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าบางประเภทได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องด้วยขณะนี้เกิดสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมา ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ชะลอการผ่อนผันเปิดด่านสำหรับการขนถ่ายสินค้าออกไปก่อน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกได้ทักท้วงเนื่องจากมีการสั่งสินค้าล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว จากคำสั่งเดิมที่ผ่อนผันให้นำเข้าได้ ประกอบกับขั้นตอนการสั่งสินค้าจากเมียนมา ตั้งแต่มีคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการจนถึงการนำสินค้าเข้าประเทศใช้ระยะเวลา  2-3 วัน ดั้งนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  จึงผ่อนผันเป็นการชั่วคราวระยะเวลา 2 วัน คือ อนุญาตให้สินค้าที่เตรียมไว้แล้วนำเข้า-ส่งออกได้ ในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์นี้ เท่านั้น ก่อนจะปิดการขนถ่ายสินค้าเพื่อรอดูสถานการณ์ในเมียนมาต่อไป

ห่วงเศรษฐกิจถูกกดดันจากโควิด รอวัคซีนช่วยประคอง คงจีดีพีปีนี้ 1.5-3.5% ส่งออก 3-5%

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ในวันนี้ว่า ที่ประชุมยังคงมีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ยังคงถูกกดดันจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยังไม่คลี่คลายและมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ ยังคงต้องมีการเร่งตรวจหาโรคเชิงรุก และเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยในการประคับประคองเศรษฐกิจ โดยมีความหวังว่าการเริ่มต้นฉีดวัคซีนในหลายประเทศ

รวมถึงแผนในการกระจายวัคซีนในประเทศไทย จะสามารถประคับประคองทำให้เศรษฐกิจของประเทศคลี่คลายลงได้ โดยมองว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามทิศทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในประเทศต่างๆ

โดยทางกกร. ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 ไว้ที่ร้อยละ 1.5-3.5 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3-5 แต่ในส่วนของภาคการส่งออกนั้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตร ที่กำลังทยอยออกมาในขณะนี้อาจเกิดความล่าช้าในการส่งออกได้

 

 

การท่าเรือฯ ลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้า  3 เดือน ตั้งแต่มกราคม – มีนาคม

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการการท่าเรือฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ

โดยให้ท่าเรือกรุงเทพ ปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่า ขาเข้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ ในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่มกราคม – มีนาคม ปี 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นจำนวนเงินประมาณ 5,280,000 บาท

พร้อมกันนี้ ให้ท่าเรือแหลมฉบัง ชดเชยค่ายกขนตู้สินค้า ให้แก่เอกชนผู้ประกอบการ นำเข้า ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยจ่ายส่วนลดคืน ในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เดือนมกราคม -เดือนมีนาคม 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นจำนวนเงิน ประมาณ 384,000,000 บาท

โดยมาตรการที่ออกมานี้ เป็นการลดอัตราค่าภาระ และค่าใช้จ่ายเพื่อจูงใจ ให้สายเรือนำ ตู้คอนเทนเนอร์ เปล่าเข้ามาให้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ ขาดแคลน

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube