รัฐมนตรีฯ เฉลิมชัย เตรียมเสนอครม. อนุมัติงบกลาง 700 ล้านบาท เร่งเยียวยา ผู้เลี้ยงสุกรจากโรค ASF
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและได้มีการพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตนเองได้ให้ความสำคัญและกำชับสั่งการไปยังกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น ให้รายงานผลการดำเนินการมาที่ตนอย่างสม่ำเสมอ สามารถควบคุมโรคได้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันสามารถควบคุมโรค ASF ได้ในวงจำกัดแล้ว และเพื่อลดผลกระทบและความเสียหายเดือดร้อนกับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้หาแนวทางมาตรการเยียวยาช่วยเหลือแก่เกษตรกรด่วน โดยล่าสุดปี 2565 ให้กรมปศุสัตว์เตรียมเสนองบกลางแก่ ครม. เพื่อเร่งเยียวยาพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกร เป็นงบประมาณกว่า 700 ล้านบาท
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรค ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด และภายหลังที่ประเทศไทยตรวจพบโรค ASF ครั้งแรกในวันที่ 11 มกราคม 2565 กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด จนปัจจุบันสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศอยู่ในสถานะเฝ้าระวังซึ่งทำให้มาตรการการควบคุมโรคของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ และมีประเทศฟิลิปปินส์มาศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตนต่อไป
สำหรับการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรประเด็นเงินชดเชยนั้น กรมปศุสัตว์ได้รับการอนุมัติงบประมาณ งบกลางสำหรับค่าชดใช้ราคาสุกรที่มาตั้งแต่ปี 2563 -2564 รวม 4 ครั้ง มีเกษตรกรที่ได้รับการเยียวยาแล้ว 9,796 ราย จำนวนสุกรที่ถูกดำเนินการลดความเสี่ยง 272,220 ตัว คิดเป็นเงิน 1,044,310,351.48 บาท
และในปีงบประมาณ 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 753,045,572.02 บาท โดยแบ่งเป็นเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกดำเนินการลดความเสี่ยง ในช่วงเดือน ตุลาคม 2564 ถึง มีนาคม 2565 สำหรับเกษตรกรจำนวน 2,655 ราย เป็นจำนวนสุกร 65,076 ตัว เป็นงบประมาณ 249,945,572.02 บาท และสำหรับแผนการดำเนินงานลดความเสี่ยงเพื่อการป้องกันโรค ASF และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า (ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2565) ในเกษตรกรจำนวน 3,000 ราย ประมาณการจะมีสุกรทั้งสิ้น 60,000 ตัว ต้องใช้งบประมาณอีกจำนวน 503,100,000 บาท ซึ่งงบนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเงินเยียวยาแก่เกษตรกรเนื่องจากมีงบประมาณสำหรับพร้อมจ่ายให้เกษตรกรทันที ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว เนื่องจากวงเงินดังกล่าวเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
โดยภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแล้ว กรมปศุสัตว์จะได้จ่ายโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรตามที่แจ้งไว้โดยตรงต่อไปโดยเร็ว นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างยั่งยืนนั้นได้กำหนดมาตรการระยะยาวคือ การผลักดันยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด (Good Farming Management: GFM) ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP และจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และได้ทำงานเชิงรุกตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและพัฒนาวัคซีนโรค ASF ในสุกรโดยเร็วและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุดเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต ซึ่งวัคซีนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมโรคเท่านั้น แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรค การป้องกันโรคโดยการเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้นภายในฟาร์มเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมั่นใจว่ากรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews