ตลท.เผยภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ มิ.ย. ผู้ลงทุนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายสิบปี
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนมิถุนายน ผู้ลงทุนแสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายสิบปี
อีกทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเติบโตในระดับต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา หรือ Stagflation ทำให้ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักหลายแห่งปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดของปีไปกว่า 20% หรือเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market)
โดยเริ่มเห็นการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนเงินสดใน portfolio ทำให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,568.33 จุด ปรับลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงเพียง 5.4% ซึ่งลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค
สำหรับ ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,568.33 จุด ปรับลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ปรับลดลงเพียง 5.4% ซึ่งลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค SET Index ใน 6 เดือนแรกปี 2565 ได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มเกษตรและอุสาหกรรมอาหาร กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ในเดือนมิถุนายน 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 71,693 ล้านบาท ลดลง 26.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 6 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 87,342 ล้านบาท โดย ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนแรกหลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่หก
โดยในเดือนมิถุนายน 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 29,990 ล้านบาท อย่างไรก็ตามใน 6 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 109,067 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 เหลือ 2.9% จากก่อนหน้าที่ 4.1% แม้ว่าความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยยังคงจำกัด แต่จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและอาหาร
บวกกับการหยุดชะงักของระบบห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากกรณีรัสเซียบุกยูเครนและแรงผลักดันธนาคารกลางทั่วโลกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้เกิดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews