สหรัฐฯ ปรับแผนดูแลห่วงโซ่อุปทานอาหารในประเทศ
สนค.เผย สหรัฐฯ ปรับแผนดูแลห่วงโซ่ผลิตอาหารในประเทศกระจายการนำเข้ามากขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งศึกษา อนาคตมีอีกหลายประเทศลดนำเข้า
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ศึกษาติดตามแผนงานด้านการปฏิรูประบบอาหารและห่วงโซ่อุปทานอาหารของสหรัฐฯ
พบว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศรายละเอียดกรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหาร เพื่อปรับปรุงระบบอาหารของประเทศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อาหารของสหรัฐฯ
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดเล็กและกลาง และชุมชนในชนบท โดยจะช่วยเพิ่มทางเลือกการบริโภค เพิ่มการเข้าถึงอาหาร และสร้างระบบนิเวศน์ตลาดที่ดีขึ้น
โดยกรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหารของสหรัฐฯ สร้างขึ้นจากบทเรียนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งของสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน ตอกย้ำความสำคัญด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร และปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบอาหารของสหรัฐฯ
ซึ่ง USDA ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้กำหนด 4 เป้าหมาย ภายใต้กรอบแผนงานการปฏิรูประบบอาหาร อาทิ การสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีทางเลือกทางการตลาดที่มากขึ้นและดีขึ้น ให้ความสำคัญกับการกระจายฐานการผลิตสู่ชนบท ไม่ให้กระจุกตัวในพื้นที่ไม่กี่แห่ง พร้อมกับการลดมลภาวะจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างงานในชนบทด้วย การสร้างระบบอาหารที่ยุติธรรม ต่อสู้กับการใช้อำนาจเหนือตลาด ช่วยผู้ผลิตและผู้บริโภคให้มีอำนาจและทางเลือกมากขึ้น โดยส่งเสริมตลาดท้องถิ่น ทั้งนี้ โควิด-19 ทำให้เห็นถึงอันตรายหากระบบอาหารมีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย และ การทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาและราคาไม่แพง
ข้อมูลจาก USDA พบว่า สหรัฐฯ มีการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีอัตราเติบโตเฉลี่ย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 5.09 ในปี 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารทั้งสิ้น 166,947 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 14.03 สินค้าอาหารที่สหรัฐฯ นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ปลาและหอย 24,199 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลไม้ 22,696 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับไทย ในปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหาร ของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 34,259.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปี 2563 ร้อยละ 9.23 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับ 3 ของไทย
รองจากจีน และญี่ปุ่น มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,628.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.27 และนอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น และเริ่มคิดที่จะปรับเปลี่ยนแผนงาน และนโยบายในการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศ และลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ เนปาลวางแผนงาน และนโยบายของประเทศในปี 2566
โดยให้ความสำคัญกับภาคการผลิตของประเทศ และสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า ขณะที่อียิปต์อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการโครงการต่าง ๆ
ด้านการเกษตร เพื่อปรับปรุง และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรภายในปี 2573 เพื่อช่วยควบคุมการนำเข้าอาหาร และจัดหาตลาดภายในประเทศที่ยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารไทยควรติดตามมาตรการและแนวโน้มของตลาดคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์การลดการนำเข้าอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews