“อนุสรณ์ ธรรมใจ” มองเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้นในไตรมาส 3 แนะชะลอไปปลายปี รอกำลังซื้อฟื้น ขออย่ากังวลบาทอ่อน
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาดการเงินโลก ว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางบางประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และประเทศที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล้วนเป็นประเทศที่มีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี อุปสงค์มวลรวมและตลาดการจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างตัวเลขล่าสุดตลาดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐอเมริกา
เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 372,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่งค่อนข้างมาก อัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.6%
ซึ่งถือว่าต่ำสำหรับสหรัฐฯ อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น 5.1% ความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยหากธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอาจเป็นเรื่องวิตกกังวลเกินเหตุ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุม 26-27 กรกฎาคม ศกนี้
โดยไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวถึงขั้นถดถอยแต่อย่างใด และคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯจะอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ในช่วงปลายปี
หากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลยในปีนี้ ก็จะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมาก กระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกของเงินทุนระยะสั้นเพิ่มเติมโดยเฉพาะเม็ดเงินเก็งกำไรในตลาดการเงิน เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกจากระดับปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มได้อีก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามและโครงสร้างหนี้ในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้ของกิจการเอสเอ็มอีอยู่ในระดับสูงมาก เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจึงไม่พร้อมสำหรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
ควรรอให้เห็นสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในให้ชัดเจนก่อน จึงตัดสินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่จำเป็นต้องกังวลเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป
เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนถึงจุดหนึ่งแล้ว กลไกอัตราแลกเปลี่ยนจะปรับสมดุลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลลดลงจากภาคการท่องเที่ยว
ส่วนอัตราเงินเฟ้อน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วโดยราคาพลังงานและน้ำมันในตลาดโลกน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสสี่ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็เท่ากับ การ Tax on economic activities
ฉะนั้นถึงที่สุดแล้ว เงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กรณีของไทยนั้น เฉพาะหน้าระยะสั้นนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกดทับการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าเงินเฟ้อ
เนื่องจากเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนและราคาพลังงานสูง รวมทั้งต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสัดส่วนหนี้สินสูงเทียบจีดีพี การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงได้ผลในการคุมเงินเฟ้อไม่มากนัก แต่จะชะลอการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้นในไตรมาสสาม ควรชะลอขึ้นดอกเบี้ยไปปลายปี คาดแรงกดดันราคาพลังงานลดลงช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews