Home
|
เศรษฐกิจ

sacit เฟ้นหาช่างฝีมืองานหัตถกรรมไทยปี 65

Featured Image
sacit เผยความสำเร็จ เฟ้นหาช่างฝีมืองานหัตถกรรมไทยปี65 สืบสานงานหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน และสามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์

 

 

นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit เปิดเผยว่า sacit เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่า ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า

 

เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่ความร่วมสมัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้

และด้วยความสำคัญดังกล่าว sacit จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่า 3 สถานะ ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552

 

สำหรับในปี 2565 นี้มีจำนวนผู้ที่เสนอชื่อเข้าร่วมการคัดสรรทั้ง 3 ประเภท จากทั่วประเทศในหลากหลายผลงานศิลปหัตถกรรม และทุกคนล้วนมีผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ ได้คัดสรรบุคคลผู้มีฝีมือ เพื่อเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมทั้งสิ้น 25 ราย ครอบคลุมทุกมิติ เช่น มิติด้าน การอนุรักษ์ , มิติด้านทักษะฝีมือ, มิติด้านเรื่องราวองค์ความรู้ , มิติด้านสังคม

 

โดยแบ่งเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 2 ราย , ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 13 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 10 ราย และเป็นที่น่ายินดีที่มีงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากหรือใกล้สูญหายและน่าสนใจ อาทิ เครื่องทองลงหิน , เครื่องสังคโลก , เครื่องประดับลงยาราชาวดี , งานปักสะดึงกรึงไหม , งานกระจกเกรียบโบราณ และเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ)

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจะได้รับโอกาสการส่งเสริม สนับสนุน ในกิจกรรมที่จัดโดย sacit เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประวัติและผลงานผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน และช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ , การได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในหรือต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์การสาธิตแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การทำงานหัตถกรรม , การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาตราสินค้า การขายออนไลน์ การพัฒนาด้านการตลาด รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือ สร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป

และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบและรักในงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถเข้าร่วมงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube