Home
|
เศรษฐกิจ

ไทยส่งออกอัญมณี 11 เดือน ปี 65 เพิ่มขึ้น 34.02%

Featured Image
ส่งออกอัญมณี 11 เดือน ปี 65 เพิ่มขึ้น 34.02% ได้แรงหนุนจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัว ตลาดขยายตัว และเป็นช่วงการจับจ่ายใช้สอยปลายปี

 

 

 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนพ.ย.2565 มีมูลค่า 687.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 หากรวมทองคำ มีมูลค่า 868.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง ร้อยละ 15.98 และยอดรวม 11 เดือนของปี 2565 หากไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,466.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.02 และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 14,489.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.24

 

โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น จากการที่เงินเฟ้อและราคาสินค้าในหลายประเทศเริ่มลดลง ค่าขนส่งสินค้าในหลายเส้นทางทั่วโลกปรับลดลง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้มีการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และช่วงปลายปี 2565 เป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอย จึงเป็นปัจจัยหนุนทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาท แม้จะแข็งค่าขึ้น แต่ก็ไม่ได้แข็งเร็วเกินไป ยังช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันได้ และหลายตลาด มีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวได้ดีในช่วง 11 เดือน ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 23.60 อินเดีย เพิ่มร้อยละ 91.61 ฮ่องกง เพิ่มร้อยละ 19.04 เยอรมนี เพิ่มร้อยละ 4.34 สหราชอาณาจักร เพิ่มร้อยละ 36.67 สิงคโปร์ เพิ่มร้อยละ 159.95 สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มร้อยละ 82.48 เบลเยี่ยม เพิ่มร้อยละ 34.76 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มร้อยละ 32.84 และญี่ปุ่น เพิ่มร้อยละ 9.11

 

โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ยังสามารถเติบโตได้ดี แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยรุมเร้าหลายประการ ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งถือว่าไทยทำได้ดี และคาดว่าตัวเลขที่เหลืออีก 1 เดือน คือ ธ.ค.2565 จะยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปียังเป็นบวกได้สูงอยู่

 

และปี 2566 GIT ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการเติบโตในปี 2566 อาจขาดปัจจัยหนุน ทำให้เติบโตลดลง จากปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น และการกลับมาระบาดของโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งต้องเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และยุโรปให้ความสำคัญมาก อาจก่อให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีได้

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube