“พิพัฒน์” ขอวัคซีนโควิดให้โรงแรม Area Quarantine 5 จังหวัด สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว หนุนฉีดวัคซีนแล้วไม่ต้องกักตัวรอดูความเหมาะสม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จะมีการจัดวัคซีนโควิดทั้งในล็อตแรกและล็อตที่สอง ส่วนหนึ่งให้กับโรงแรมที่เสนอตัวเป็น Area Quarantine
ซึ่งจะฉีดให้กับพนักงานต้อนรับ ในโรงแรม ที่เสนอตัวเป็น Area Quarantine ทั้งหมด ใน 5 จังหวัด
ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานีในเกาะสมุย ซึ่งตามที่ได้มีการขอไว้ก่อนหน้านี้ ขอไว้จำนวน 1 หมื่นคน หรือเท่ากับ 2 หมื่นโด้ส รวมทั้งสิ้น 1 แสนโด้ส เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน Model Quarantine นี้ ซึ่งจะเป็นโครงการต่อไปในอนาคต
จากที่ได้คุยกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เบื้องต้นจะมีการให้กักตัว 3 วัน หลังจากนั้นให้อยู่ในบริเวณโรงแรมได้ แต่นักท่องเที่ยว ต้องปฏิบัติตามกฎของกระทรวงสาธารณะสุข
ส่วนที่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะเข้าประเทศไทย ได้โดยที่ไม่ต้องกักตัว และโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรนั้น นายพิพัฒน์ ระบุว่า ต้องดูความเหมาะสม ส่วนตัวมองว่าภายในสิ้นปีนี้คนไทยจะได้รับวัคซีนมากน้อยเท่าไหร่ อีกทั้งต้องดูองค์การอนามัยโลก ว่า มีวัคซีนพาสปอร์ต ออกมาหรือยัง หรือมีการรับรองการฉีดวัคซีน
ซึ่งหากมีตรงนี้แล้ว จากนั้นก็จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ศบค. เพื่อพิจารณาว่ากระทรวงสาธารณสุข ขัดข้องหรือไม่ และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 3
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผย โควิด-19 ระบาดฉุดการใช้สิทธิ FTA,GSP ปี63 ภาพรวมลดลง10.46% ขณะตลาดสหรัฐยังบวกได้7.57%
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เป็นการทั่วไป หรือ GSP ในปี 2563
ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ทั้งสิ้นกว่า 62,338 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วน การใช้สิทธิฯ ร้อยละ 76.06 ลดลงร้อยละ 10.46 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 58,077 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.41 และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 4,261 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.03
โดยปัจจัยที่การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA และ GSP ลดลง มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทั่วโลก แต่มีสินค้าไทยบางรายการยังมีศักยภาพในการส่งออก อาทิ สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เกษตร เกษตรแปรรูป รวมถึงตลาดสหรัฐฯ ที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP บางรายการ แต่การใช้สิทธิยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.57 คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการโดยเฉพาะสินค้าอาหาร
WTO เปิดตัวระบบให้ความช่วยเหลือสมาชิก ผ่านระบบออนไลน์ ช่วงโควิด-19 เป็นโอกาสผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับการแข่งขันทางการค้า
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ องค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้เปิดตัวระบบการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศสมาชิก WTO ด้านการเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องกฎเกณฑ์การค้าของ WTO ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ผ่านระบบการฝึกอบรมออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคคลากรภาครัฐ และการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 อาทิ การปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง WTO กฎเกณฑ์การค้าสินค้า และการค้าบริการ มาตรการเยียวยาทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO และ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถเลือกเรียนได้ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน ที่ https://wtolearning.csod.com
ซึ่งการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านกฎเกณฑ์การค้าโลก ให้กับผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นเรื่องความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้การประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของไทย มีความคล่องตัว และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์การค้า ของ WTO พร้อมรับการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news