คมนาคมลุยแสนล้านผุดระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
กระทรวงคมนาคม ตั้ง งบแสนล้าน ผุดระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ คาดเริ่มก่อสร้างปี 2566 แล้วเสร็จปี 2568
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ว่า สำหรับโครงการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้ประมาณการวงเงินลงทุนทั้งโครงการ ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP ซึ่งมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน และการหาเอกชนลงทุนแบบ PPP จะมีการประกวดราคาแบบ International Bidding และรัฐบาลก็จะมีการจัดโรดโชว์และนำโครงการให้ผู้ลงทุนทราบ ซึ่งการหาผู้ลงทุนแบบ PPP ยังคงยึดหลักให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทยหรือ “ไทยเฟิร์ส” ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะก่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงต่อพื้นที่ภาคใต้โดยมั่นใจว่า เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จส่งผลให้ จีดีพี ของพื้นที่ภาคใต้เติบโตจากสัดส่วน 2% เป็น 10 % เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี หลังมีการเปิดใช้โครงการแล้ว
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การศึกษาออกแบบจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดย ระหว่างการศึกษารายละเอียดของโครงการกระทรวงคมนาคมจะมีการเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมถึงการจัดเตรียมละเอียดการทำPPP เบื้องต้นคาดว่าโครงการจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 และใช้เวลาก่อสร้าง3 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2568 ใกล้เคียงกับกำหนดการแล้วเสร็จของการพัฒนาพื้นที่ EEC ของภาคตะวันออกด้วย
รัฐมนตรีฯ คมนาคม เผย สนข.ลงนามจ้างที่ปรึกษาเดินหน้าแลนด์บริจด์ ระนอง-ชุมพรเชื่อม 2 ท่าเรือรองรับเรือขนส่งสินค้า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ซึ่งเป็น1ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม
เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 100,000 ลำ/ปี และคาดว่าในปี 2567การรองรับปริมาณเรือของช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพ และคาดการณ์ว่าปี 2593 ปริมาณเรือที่ผ่านจะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า สำหรับโครงการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจะบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร ออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยหรือ Smart Port ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งทางเรือลงได้ถึง 2 วัน ช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news