Home
|
เศรษฐกิจ

สนค.ชี้เสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลตอบโจทย์ BCG Model

Featured Image
สนค. สนับสนุนผู้ประกอบการปรับตัวผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ BCG Model

 

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สนค. ได้ติดตามแนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิล ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค

 

โดยวัสดุที่นำมารีไซเคิลมีทั้งสิ่งทอก่อนการใช้งาน (Pre-consumer) เช่น เศษด้ายหรือผ้าเหลือใช้ในโรงงาน และสิ่งทอหลังการใช้งาน (Post-consumer) เช่น เสื้อผ้าเก่าและของใช้ในบ้าน สำหรับตลาดเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลของโลกมีมูลค่าประมาณ 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 และ คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2575 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 10.7 ต่อปี

 

สาเหตุที่หลายภาคส่วนหันมาผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแบบเดิมส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยการผลิตสิ่งทอทั้งโลกมีการใช้น้ำประมาณ 9.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีการปล่อยน้ำเสียร้อยละ 20 ของการปล่อยน้ำเสียทั่วโลก

 

 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 8-10 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางทะเลรวมกัน ดังนั้นหากมีการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค อาจจะก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิตและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

 

 

ในส่วนประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลปี 2575 จะอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.5 ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าทั้งหมดของไทย โดยมีผู้ประกอบการไทยหลายรายปรับตัวมาผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิล

 

 

โดยผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสิ่งทอรีไซเคิล สามารถดำเนินการจัดทำมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับซึ่งโดยส่วนใหญ่อยู่บนหลักความสมัครใจ อาทิ Global Recycle Standard (GRS) คือ มาตรฐานระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากองค์กรด้านสิ่งทอในต่างประเทศ เพื่อบ่งบอกว่าบริษัทผลิตสินค้าที่มาจากการรีไซเคิลที่ยั่งยืน รวมทั้งการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม

 

 

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสินค้าบนพื้นฐาน BCG Model ซึ่งเป็นแนวคิดการลดขยะและมลพิษ รวมทั้งการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ อาทิ โครงการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่นำเศษผ้าจากการตัดและทอผ้า มาเรียงสีแล้วนำไปทอใหม่ก่อนนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า

 

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการ Local+ (โลคัล พลัส) ที่ผลักดันสินค้าท้องถิ่นที่รักษาสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาและมีนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเสื้อผ้า “ผ้ามัดย้อมมูลวัว” ที่นำมูลวัวมาเป็นน้ำย้อมผ้า นับเป็นการนำของเสียมาแปรรูปให้เกิดมูลค่า ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยตลาดเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลนับเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่น่าจับตามองในอนาคต

 

 

เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการทั้งเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลของไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบและการรับรองมาตรฐานสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายช่องทางการตลาดระดับโลกโดยเฉพาะคู่ค้าที่ให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube