Home
|
เศรษฐกิจ

ผู้เลี้ยงหมู จี้ ทบทวนนโยบายอาหารสัตว์

Featured Image
ผู้เลี้ยงหมู วอนรัฐบาลชุดใหม่ ทบทวนนโยบายอาหารสัตว์ โดยเฉพาะมาตรการประกันราคาขั้นต่ำ โควต้าและภาษีนำเข้า เร่งปราบหมูเถื่อน

 

 

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาเดียวกัน คือ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงมาก ขณะที่ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงโดยราคาแนะนำของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งเมื่อวันพระที่ผ่านมา (25 มิถุนายน 2566) อยู่ที่ 72-76 บาทต่อกิโลกรัม แต่มีต้นทุนเฉลี่ยเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 90.57 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาเป็นเดือนที่ 6

 

“ผู้เลี้ยงหมูขาดทุนสะสมต่อเนื่องเป็นดินพอกหางหมู โดยหวังว่าหลังจากไทยควบคุมโรคระบาด ASF ได้ดี เกษตรกรมั่นใจนำหมูเข้าเลี้ยงจนได้ผลผลิต แต่กลับขายในราคาขาดทุนเพราะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูง อีกทั้งหมูเถื่อนยังลักลอบนำเข้ามาแทรกแซงราคาอีก จึงอยากขอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาทบทวนนโยบายอาหารสัตว์แบบบูรณาการ แก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูง และปราบหมูเถื่อนให้สิ้น เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของหมูไทยในอนาคต” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ของผู้เลี้ยงหมูเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การค้าขายไม่คล่องตัวและไม่เป็นไปตามกลไกตลาด 2. การพบโรคระบาด ASF ในไทย กระทบผลผลิตหายไป 50% และยังถูกหมูเถื่อนบิดเบือนกลไกตลาด และ 3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อนานกกว่า 1 ปี ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น 30% รวมถึงราคาพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของภาคปศุสัตว์ เป็นการซ้ำเติมผู้เลี้ยงหมูต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตสูงและขาดทุนสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์คิดเป็น 60-70% ของต้นทุนการเลี้ยงหมู โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในสูตรอาหารปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 สูงสุดที่ราคา 13.75 บาทต่อกิโลกรัม ผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การขนส่งหยุดชะงักทั้งหมด

 

นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบดังกล่าวยังมีการห้ามส่งออกธัญพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ทำให้ซัพพลายในตลาดขาดแคลนดันราคาสูงขึ้นมาโดยตลอด แม้ว่าปัจจุบันราคาจะปรับลดลงบ้างก็ตามแต่ราคาในไทยยังคงยืนแข็งในระดับสูงเฉลี่ยที่ 12-12.75 บาทต่อกิโลกรัม และสูงเกินกว่าราคาประกันของรัฐบาลที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม จนรัฐบาลประกาศไม่จ่ายชดเชยส่วนต่างราคาเป็นครั้งที่ 8 ในรอบปี 2566

 

นายสิทธิพันธ์ ย้ำว่า ประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เพียงปีละ 5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการสูงถึง 8 ล้านตัน ส่วนเกิน 3 ล้านตัน การนำเข้าอยู่ภายใต้มาตรการโควต้าและภาษีนำเข้าของรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงสูง ทั้งที่ภาคปศุสัตว์เคยเรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ปัญหานี้มาแล้วหลายสมัยแต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

 

มีเพียงมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีการทบทวนนโยบายอาหารสัตว์ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และส่งเสริมอุตสาหกรรมสุกรไทยที่ผลิตเนื้อหมูปลอดภัยสำหรับคนไทย ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเนื้อสัตว์ของไทย ให้มีอนาคตสดใสสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ทั้งด้านราคาและคุณภาพ สู่แนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน.

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube