กระทรวงพาณิชย์ ชี้ สัตว์น้ำ-อาหารทะเลในจีนโต โอกาสไทยขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มจีน แนะศึกษากฎระเบียบพฤติกรรมการบริโภค
นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ล่าสุดได้รับรายงานจากนายณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงสถานการณ์การบริโภคสัตว์น้ำของจีน
โดยทูตพาณิชย์ ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่มีการผลิต และส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลแปรรูปมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการการบริโภค
ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอาหารทะเลจากทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาทะเล อาทิ กุ้งล็อบสเตอร์ กุ้งกุลาดำ หอยนางรม ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาหมึก และปู เป็นต้น โดยในปี 2565 จีนมีการบริโภคสัตว์น้ำต่อหัวเฉลี่ยถึง 14.6 กก./คน/ปี และคาดว่าในปี 2569 จะเพิ่มเป็น 23 กก./คน/ปี
โดยผู้บริโภคชาวจีนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ผู้บริโภคในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล เช่น ฝูเจี้ยน เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เป็นต้น นิยมรับประทานอาหารทะเลที่มีคุณภาพและราคาสูง และผู้บริโภคในพื้นที่ตอนในของจีนซึ่งไม่มีพื้นที่ติดทะเล จะนิยมบริโภคปลาน้ำจืดแทน แต่ก็มีหลายเมืองใหญ่ทางตอนในและตอนใต้ของประเทศ เช่น เฉิงตู หนานหนิง คุนหมิง ที่ผู้บริโภคมีรายได้ปานกลางถึงสูงจึงเป็นกลุ่มที่นิยมบริโภคอาหารทะเล และปัจจุบัน เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การค้าปลีกผ่านแพลตฟอร์ม/แอปพลิเคชั่นออนไลน์
แบบจัดส่งทันทีกลายเป็นช่องทางใหม่สำหรับการขายปลีกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในตลาดจีน เนื่องจากใช้ระบบโลจิสติกส์ มาช่วยจัดส่งทำให้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมบนแพลตฟอร์มออนไลน์อีกหนึ่งรายการ
นอกจากนี้อาหารกึ่งสำเร็จรูปที่ทำจากสัตว์น้ำ ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน โดย ร้อยละ 77.7 ของผู้บริโภคชาวจีน นิยมซื้ออาหารกินสำเร็จรูปที่ทำจากสัตว์น้ำ โดยร้อยละ 62.9 เป็นประเภทปลา และร้อยละ 61.9 เป็นประเภทกุ้ง ทั้งนี้อาหารที่ทำจากสัตว์น้ำมีแนวโน้มเติบโตและมีช่องว่างในตลาดอีกมาก ซึ่งเป็นเทรนใหม่ในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องการขยายตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังตลาดจีน เนื่องจากปัจจุบันรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรจีนเพิ่มสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และปริมาณความต้องการบริโภคสัตว์น้ำและอาหารทะเลนำเข้าค่อนข้างสูง โดยผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบและภาษีการนำเข้าให้ชัดเจน เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ ผู้บริโภคในแต่ละมณฑล/เมืองมีความต้องการและมีความคุ้นชินเกี่ยวกับ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่แตกต่างกัน เช่น ด้านพฤติกรรมการบริโภค ด้านความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการ
นอกจากนี้ การทำตลาดสัตว์น้ำและอาหารทะเลผ่านแพลตฟอร์ม E–Commerce ในจีน ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าร่วมแพลตฟอร์มที่สำคัญ ได้แก่ Taobao T-mall Jingdong และ Hema และที่สำคัญควรดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในตลาดจีน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จในตลาด E-commerce ในประเทศจีนอย่างยั่งยืน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews