นักวิชาการ มองนโยบายแทรกแซงราคาทำให้จนลง
นักวิชาการ เผย ช่วง 10 ปี ไทยจนสุดในอาเซียน นโยบายแทรกแซงราคาทำให้จนลง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ 10 ปี ชาวนาไทย จนเพิ่มหนี้ท่วม ว่า ในช่วง 10 ปี พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้ และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่งและต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย ต้นทุนการผลิตของชาวนาไทย ในปี 2565 มีต้นทุนการผลิต 5,898.5 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาท/ไร่ จากปี 2555
ขณะที่รายได้ลดลง 777.7 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 3,900.3 บาท/ไร่ น้อยกว่าในปี 2555 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ในปี 2555 ชาวนามีเงินคงเหลือ 838.3 บาท/ไร่ แต่ปี 2565 ชาวนามีเงินขาดทุน 1,998.2 บาท/ไร่ ซึ่งจากบทวิเคราะห์ พบว่า ชาวนาไทยจนที่สุดในอาเซียน โดยพิสูจน์แล้วว่านโยบายในการแทรกแซงราคาของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นได้ แต่อยากฝากให้รัฐบาลใหม่ดูแลในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพ การเพิ่มผลผลิตและการลดต้นทุนอย่างจริงจัง
ในขณะที่การผลิตข้าวของโลก ในปี 2565 ประเทศผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของโลก คือ ประเทศจีน โดยผลิตข้าวสารได้ 145 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.5 ของการผลิตข้าวสารโลก อินเดีย ผลิตข้าวสารได้มากเป็นอันดับสองของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 136 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 เวียดนาม ผลิตข้าวสารเป็นอันดับห้าของโลก ผลิตข้าวสารได้ 27 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.3 และไทย ผลิตข้าวสารเป็นอันดับหกของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 20 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของการผลิตข้าวสารโลก
โดยประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 2565 คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดีย คือ บังกลาเทศ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทยในปี 2565 คือ อิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่เวียดนาม มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน
โดย 10 ปี ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ ไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ชาวนาไทยปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย
แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอม และนุ่ม โดยเอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews