กทพ.ชะลอขึ้นค่าทางด่วนฉลองรัชและบูรพาวิถีอีก 6 ด.
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถี ออกไปอีก 6 เดือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ชะลอปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ 2 สายทาง คือ ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ออกไปอีก 6 เดือน จากกำหนดเดิมที่จะปรับขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่กำหนดให้ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา – อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา – ชลบุรี) ชะลอการปรับค่าผ่านทางออกไปอีก 6 เดือน หรือมีผลวันที่ 1 มีนาคม 2567 เพื่อลดภาระใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการขนส่ง โดยอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่จะมีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2567 จะปรับเป็นอัตราดังนี้
อัตราค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช
– รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6 – 10 ล้อ 65 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ 90 บาท
อัตราค่าผ่านทางด่านฯ รามอินทรา 1 และด่านฯ สุขาภิบาล 5 – 2
– รถ 4 ล้อ 20 บาท รถ 6 – 10 ล้อ 35 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ 45 บาท
อัตราค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี
– รถ 4 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะใช้อัตราค่าผ่านทางเดิม แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 5 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 บาท โดยคิดตามระยะทาง
– รถ 6 – 10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยคิดตามระยะทาง
– รถมากกว่า 10 ล้อ กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะปรับขึ้น 5 บาท แต่กรณีเดินทางเกิน 20 กิโลเมตร จะปรับอัตราค่าผ่านทางต่ำสุด 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 25 บาท โดยคิดตามระยะทาง
สำหรับการชะลอหรือการปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าวเป็นไปตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิ ในรายได้ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (Revenue Transfer Agreement: RTA) กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF ในข้อ 4.4 การปรับค่าผ่านทางที่ระบุว่า เมื่อมีการพิจารณาตามข้อ 5.4 (1) แล้วปรากฎว่าจะต้องปรับค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นทาง กทพ. จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่ระบุไว้ในกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เพื่อให้มีผลบังคับภายในวันที่ 1 กันยายนของปีเดียวกับที่ได้มีการพิจารณา หาก กทพ. ได้ดำเนินการต่าง ๆ
ครบถ้วนแล้วแต่ไม่มีการปรับอัตรา ค่าผ่านทางหรือไม่สามารถปรับอัตราค่าผ่านทางได้เต็มจำนวนที่คำนวณได้ หรือมีการปรับอัตราค่าผ่านทางล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้ถือว่า กทพ. ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ครบถ้วนแล้ว และไม่ถือว่าเป็นเหตุให้ กทพ. ผิดข้อสัญญาหรือทำให้กองทุนฯ มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายค่าชดเชยหรือเงินเพิ่มใด ๆ จาก กทพ. โดยการชะลอการปรับค่าผ่านทางออกไปอีก 6 เดือน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนคิดเป็นเงินกว่า 233 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF โดยเริ่มพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทางวันที่ 1 มีนาคม 2566 และ กทพ. จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 กันยายน 2566 ก่อนหน้านี้ กทพ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการปรับค่าผ่านทางตามสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี (RTA) รวมถึงพิจารณาปรับค่าผ่านทางทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ซึ่งครบรอบ 5 ปี โดยคำนวณตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) จะปรับขึ้นประมาณ 10% หรือประมาณ 5 บาท
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews