ส.อ.ท. กังวลดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการเงินสูง
ส.อ.ท. กังวลดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบต้นทุนการเงิน กำลังซื้อหด ชะลอลงทุนใหม่
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 32 ในเดือนสิงหาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% สูงสุดในรอบ 9 ปี ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่
จึงค่อนข้างมีความกังวลมากกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ประกอบกับนักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อีก 1 ครั้ง ในช่วงปลายปีนี้ และอาจกดดันให้ ธปท. ต้องมีการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในเรื่องกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัว เนื่องจากภาระอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และหนี้สินครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ประชาชนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ภาคธุรกิจเกิดแรงกดดันที่อาจส่งผลทำให้การปรับราคาสินค้าเพิ่มตามต้นทุนจริงทำได้ยากขึ้น ตลอดจนต้องชะลอการลงทุนใหม่ออกไป
ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ขอให้ธนาคารรัฐสนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ มีการกำกับดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ (Spread) ให้ส่วนต่างลดลง รวมทั้งปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อลดภาระและช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น และขอให้ ธปท. พิจารณาชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อนในช่วงนี้
ด้านมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงและกดดันเศรษฐกิจไทยอยู่ในขณะนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. เสนอให้รัฐบาลยกระดับปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่การเข้ามาดูแลค่าครองชีพของประชาชน เช่น ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ เพื่อลดภาระให้ประชาชนมีเงินเหลือใช้มากขึ้น การส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน
สร้างอาชีพใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากการทำงาน การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Incentives) ให้กับลูกหนี้ชั้นดี และส่งเสริมให้ประชาชนใช้มาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งในส่วนของหนี้สถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐในการนำมาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจรต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews