GIT ชี้ ศก.คู่ค้าชะลอ ส่งออกอัญมณีฯ ก.ค.ลดลง 0.38%
GIT ชี้ เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลการส่งออกอัญมณีฯ ก.ค.66 มีมูลค่า 585.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 0.38% รวม 7 เดือน ยังโต 7.76% แนะผู้ส่งออกปรับรูปแบบการขาย จับตาเศรษฐกิจโลก น้ำมันขึ้น ฉุดกำลังซื้อ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนก.ค.2566 มีมูลค่า 585.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง ร้อยละ 0.38 ซึ่งถือว่าทรงตัว เมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่หลายประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว หากรวมทองคำ มีมูลค่า 806.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 24.26 และรวม 7 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 4,784.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มร้อยละ 7.76 และรวมทองคำ มูลค่า 8,168.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.47
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่า มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่มร้อยละ 163.58 ญี่ปุ่น เพิ่มร้อยละ 8.59 อิตาลี เพิ่มร้อยละ 42.11 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มร้อยละ 23.14 สิงคโปร์ เพิ่มร้อยละ 67.62 ส่วนสหรัฐฯ ลดร้อยละ 11.06 เยอรมนี ลดร้อยละ 48.49 สหราชอาณาจักร ลดร้อยละ 11.88 สวิตเซอร์แลนด์ ลดร้อยละ 7.75 อินเดีย ลดร้อยละ 61.72
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 7 เดือน จะยังขยายตัวได้จากปัจจัยบวกหลายประการ ทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดที่สำคัญ โดยเฉพาะภาคบริการที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่แรงหนุนเริ่มมีการแผ่วตัวลงจากตลาดสำคัญหลายแห่งที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคสินค้าในปัจจุบัน ผู้ขายต้องลดอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนของการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อให้มีความลื่นไหล และรองรับการปรับเปลี่ยนตามกระแสได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรตอบรับด้วยการสร้างรูปแบบสินค้าให้ปราศจากข้อจำกัดมากขึ้น อย่างเช่นสินค้าที่มีคอนเซ็ปต์ไม่จำกัดเพศ สามารถสวมใส่ได้ไม่ว่าจะเป็นเพศใด เพื่อตอบสนองกระแสการเปิดรับความมีเอกลักษณ์สร้างตัวตนในทุกรูปแบบ หรือเครื่องประดับที่มีการใช้งานได้หลากหลาย รวมไปถึงการออกแบบช่องทางการนำเสนอสินค้าบนสื่อออนไลน์ให้เหมาะกับทุกอุปกรณ์ โดยเฉพาะการแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมใช้มากที่สุด เพราะสินค้าที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภค จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด
สำหรับสิ่งที่จะต้องจับตาต่อไป เพราะมีผลต่อกำลังซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงชัดเจน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2566 พิจารณาได้จากดัชนี PMI จาก S&P Global ที่เริ่มปรับตัวลงจากจุดสูงสุดในรอบปีที่ 54.3 จุด ในเดือน มิ.ย. สู่ระดับ 50.4 ในเดือน ส.ค. แม้ว่าก่อนนี้จะได้แรงหนุนจากภาคบริการที่กลับมาเติบโตได้ดีในช่วงต้นปี
แต่เริ่มมีแนวโน้มแผ่วลง สะท้อนให้เห็นภาวะชะลอตัวจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังรุมเร้าหลายประเทศทั่วโลก ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หรือปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2567
โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะมีการชะลอตัวลงมากกว่าประเทศอื่น ๆ ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังน่าเป็นห่วงจากปัญหาหลายประการที่จะทำให้ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ซึ่งความหวังอยู่ที่ภาครัฐในการทยอยออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน หลังจากกลุ่มโอเปกปรับลดการผลิตลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและกำลังซื้อของประชาชนในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews