“กสิกรไทย”หั่นGDP64เหลือ1.8%เซ่นโควิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด เศรษฐกิจไทยปี 64 โตลดลงที่ 1.8% จากเดิมคาด 2.6% หลังโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงกว่าก่อนหน้านี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง เศรษฐกิจไทย ปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตลดลงที่ 1.8% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% โดยมองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ในขณะที่แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน อย่างไรก็ตาม ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ได้รวมปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่จะเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้จากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด
นอกจากนี้ ยังได้รวมถึงปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไปแล้ว โดยมีโครงการที่ยังดำเนินอยู่ เช่น โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน ขณะที่มีมุมมองว่า ภาครัฐจะมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท ประกอบกับยังมีเงินจากงบกลาง ภายใต้ พรบ.งบประมาณปี 2564 ที่สามารถนำมาใช้ได้อีกราว 1.3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีความกังวลถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตัวแปรสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งหากการฉีดวัคซีนมีความล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อหรืออาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก และทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไป ทั้งนี้ ในกรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อหรือมีการระบาดที่รุนแรงอีกรอบไตรมาส 3/2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงการเร่งปูพรมกระจายวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝง (Hidden cost) ที่อาจประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มเห็นหลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็ม และขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจ ขณะที่ต้นทุนต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยธรรมดาก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เป็นปกติเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประสิทธิภาพของแรงงานให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าการบริโภคที่ลดลงและรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news