โคราชประกาศล็อกดาวน์โรงงานแปรรูปไก่ขนาดใหญ่ 2 แห่ง พร้อมจัด จนท.ตรวจหาเชื้อเชิงรุกพนักงานเกือบ 5 พันคน
จากกรณีที่ชาวบ้าน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ตื่นตระหนกและหวาดกลัวคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ขนาดใหญ่ 2 แห่งใน อ.โชคชัย ซึ่งมีลูกจ้างรวมกว่า 1 หมื่นคนทำงานอยู่ โดยคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่แรก พบผู้ติดเชื้อจำนวน 56 ราย รักษาตัวอยู่ที่ รพ.โชคชัย 6 ราย และกักตัวภายในโรงงานภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ควบคุมโรคติดต่ออำเภอ จำนวน 50 ราย โดยสาเหตุเกิดจาก มีการปนเปื้อนของเชื้อบริเวณจุดสัมผัสที่นั่งรับประทานอาหาร และจุดเปลี่ยนรองเท้า ขณะนี้โรงงานได้ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ด้วยการตรวจคัดกรองหาเชื้อจากลูกจ้าง จำนวน 3,260 ราย จากจำนวนทั้งหมด 8,000 คน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจให้ครบทั้งหมด ขณะที่โรงงานอีกแห่ง ติดเชื้อทั้งลูกจ้างคนไทยและคน สปป.ลาว ขยายวงครอบครัว หลังพบผู้ป่วยรายแรก โรงงานได้ตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงสูงจำนวน 300 ราย พบเชื้อ จำนวน 60 ราย อยู่ระหว่างกักตัวภายในหอพักโรงงาน จำนวน 57 ราย มีอาการหนักรักษาตัวที่ รพ.โชคชัย จำนวน 2 ราย กักตัวที่บ้านพัก จำนวน 1 ราย ล่าสุดได้ตรวจหาเชื้อแผนกอื่นๆ อีกจำนวน 799 ราย พบติดเชื้อเพิ่มอีก จำนวน 11 ราย
ล่าสุดวันนี้ (6 สิงหาคม 2564) นายสมชาย อำพันกาญจน์ นายอำเภอโชคชัย พร้อมด้วยสาธารณสุขอำเภอโชคชัย สาธารณสุขอำเภอหนองบุญมาก ตัวแทนสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลตำบลท่าเยี่ยม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าเยี่ยม ร่วมประชุมกับ ผู้บริหารบริษัท โรงงานดังกล่าว เพื่อรับฟังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และแนวทางการแก้ไขปัญหา พร้อมนี้ได้รับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน ของประชาชนในพื้นที่ โดยผ่าน ผอ.รพ.สต.ในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีข้อสรุป ดังนี้
1. บริษัทฯ ควบคุมการแพร่ระบาดโดยใช้มาตรการ Bubble and Seal เป็นการจำกัดพื้นที่ให้พนักงานอยู่ภายในที่พักอาศัยที่ทางโรงงานจัดหาให้ โดยมีรถรับ-ส่ง ที่พักและโรงงาน เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้พนักงานออกนอกพื้นที่
2. การดูแลผู้ติดเชื้อ ทางโรงงานจะนำผู้ติดเชื้อเข้ารักษาใน community isolation (CI) ของโรงงาน โดยทางโรงงานจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเบื้องต้นให้กับผู้ติดเชื้อ เช่น เครื่องวัดความดัน วัดออกซิเจน ยารักษาโรคทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย โดยการดูแลของ รพ.โชคชัย กรณี มีอาการฉุกเฉินจะนำส่ง รพ. เพื่อรักษาต่อไป
3. การดูแลคนในชุมชนซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ติดเชื้อ เมื่อพบว่ามีผู้สัมผัสผู้ป่วยในโรงงานต้องทำการกักตัว ทางโรงงานจะจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้ เพื่อลดภาระของชุมชนในการดูแลผู้ที่ถูกกักตัว
4. กรณี พนักงานในโรงงานหยุดงานเนื่องจากเกรงว่าจะติดเชื้อ ทางโรงงานยังคงรักษาสถานภาพของพนักงาน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ
5. โรงงานมีความพร้อมในการใช้พื้นที่ภายในโรงงานเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามได้
6. โรงงานมีความเห็นว่าหากปิดโรงงานจะเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพนักงานจะต้องกลับไปพักอาศัยในชุมชนอาจนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่ระบาดในชุมชนได้ จึงเห็นว่า ยังคงเปิดโรงงานและใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อไม่ให้เชื้อระบาดไปภายในชุมชน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news