แม่ค้าร้านอาหารโคราช ยืนยัน ช่วงนี้พริกแพงจริง แต่เป็นพริกแดงไม่ใช่พริกขี้หนู ชี้ พ่อค้าคนกลางซื้อหน้าสวนมาแบ่งขายเป็นทอดๆ
จากกรณีที่มีประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ออกมาเปิดเผยว่า พริกขี้หนูในตลาดสด มีราคาแพงขึ้นสาเหตุมาจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ทางภาคใต้ประสบอุทกภัย ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกพริกส่งขายไปยังภาคต่างๆของประเทศได้เป็นผลให้พื้นที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ราคาจำหน่ายพริกสูงขึ้นด้วย โดยพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดสดพิมายเมืองใหม่ ได้จำหน่ายพริกเม็ดละ 1 บาท ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าจำหน่ายอาหารที่ใช้พริกเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร นางศิวพร คงสัตย์ อายุ 73 ปี แม่ค้าชาวอำเภอพิมาย เปิดเผยว่า ราคาพริกที่แพงขึ้นจะเป็นพริกแดง ไม่ใช่พริกขี้หนู ซึ่งเริ่มแพงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ร้านจะซื้อพริกมาหลายชนิดจากตลาดสดในพื้นที่ ทั้งพริกขี้หนู พริกแดง พริกเขียว และพริกใหญ่ ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน โดยพริกที่ราคาแพงสุดขณะนี้ จะเป็นพริกแดง ซึ่งราคาขายจะดูที่ขนาด ถ้าเม็ดสั้น ขนาด 2-3 เซนติเมตร จะขาย 24 เม็ด ในราคา 10 บาท แต่ถ้ายาวขึ้นมาอีก จะขาย 8 เม็ด ราคา 5 บาท และถ้ายาวเพิ่มขึ้นอีก 5-6 เม็ด จะขายอยู่ที่ 5 บาท หรือเฉลี่ยราคาเกือบเม็ดละ 1 บาทเลยทีเดียว เพราะเมื่อนำไปประกอบอาหารจะมีสีสันที่สวยงาม และยังเป็นวัตถุดิบทำเมนูได้หลากหลายอีกด้วย ส่วนพริกเขียว หรือพริกแดงที่ยังดิบอยู่ 18-19 เม็ด จะขายในราคา 5 บาท ซึ่งสาเหตุที่ราคาพริกแดงแพง น่าจะมาจากภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพริกแดงแหล่งใหญ่ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย เพาะปลูกไม่ได้ พริกแดงจึงขาดตลาด พ่อค้าแม่ค้าคนกลางและในตลาด จึงฉวยโอกาส มาแบ่งพริกส่งขายเป็นทอดๆ เพื่อเอากำไร ทำให้ลูกค้าเมื่อซื้อในราคาเดิม แต่จะได้พริกในปริมาณที่ลดลง ทั้งๆที่ราคาซื้อหน้าสวน เท่าที่ถามเกษตรกรในพื้นที่ บอกว่า พริกแดงจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท พริกเขียว ราคากิโลกรัมละ 37 บาทเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ทุกจังหวัดประสบปัญหาพริกแพงกันเกือบทั้งนั้น
ขณะที่ นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ตลาดสุรนารี (ชื่อเดิมตลาดสุรนคร) เขตเทศบาลนครราชสีมา เพื่อตรวจสอบราคาพริกขี้หนูหลังจากมีกระแสข่าวราคาพริกขี้หนูมีราคาที่สูง ถึงราคาเม็ดละ 1 บาท โดยภายหลังจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวหลังจากที่มีสื่อนำเสนอข่าวออกไปถึงราคาพริกขี้หนูที่มีราคาสูงกว่าปกติ เรื่องนี้ทางนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ทราบเรื่องและได้มีความเป็นห่วงถึงกรณีดังกล่าว จึงได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบจากการตรวจสอบราคาพบว่าสาเหตุที่เป็นกระแสข่าวออกไปนั้นต้องแยกออกเป็น 2 ด้านได้แก่ ด้านการผลิต และด้านการตลาด โดยด้านการผลิต เกษตรกรจะเริ่มเพาะปลูกพริกในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน โดยจะใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูก ประมาณ 90 วัน ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 2,000 กก./ไร่ โดยผลผลิตจะออกเยอะและสุกเร็วในช่วงที่อากาศร้อน
ด้าน การตลาด ผู้ประกอบกการได้ซื้อพริกมากจากจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และตลาดไทย จากสถานการณ์ของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้การขนส่งค่อนข้างยาก ประกอบกับช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 อากาศเย็นทำให้ผลผลิตออกน้อยและสุกช้า ทำให้ราคาในช่วงปลายเดือน ธ.ค. ต่อเนื่องถึงต้น ม.ค. ราคา กก.ละ 240 บาท ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัย จากสภาพอาการและสถานการณ์ทำให้ราคามีการปรับตัวสูงขึ้น แต่ ปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์เริ่มคลี่คลายสภาพอาการเริ่มร้อนขึ้น พริกผลผลิตได้ตามปกติประกอบกับรัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการการขนส่งเริ่มสะดวกมากขึ้นทำให้ ราคากลับเข้าสู่ภาวะปกติ จำหน่ายส่งในตลาด ราคา กก.ละ 140-150 บาท จำหน่ายปลีก กก.ละ 160-170 บาท และมีแนวโน้มราคาลดลง ใกล้เคียงกับราคาของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นห่วงของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และสนง.พาณิชย์จังหวัด จะได้ออกติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสในการปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงนี้ นายศารุมภ์ฯ กล่าว
ด้าน นางวงเพชร สังข์ฆพงษ์ อายุ 43 ปี แม่ค้าขายผักสด ร้านเอ๋ ผักสด ภายในตลาดแม่กิมเฮง เขตเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีเป็นต้นมา ราคาพริกแพงมากเกือบเท่าตัว เดิมซื้อมา 10 กิโลกรัม แค่กิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่ตอนนี้สินค้าไม่มี รับซื้อมาถุงละ1,500-1,600บาท มาแบ่งขายหน้าร้านปรับราคานิดหน่อย เพราะเห็นใจลูกค้า ส่วนพริกเขียวราคาจะถูกกว่ามากแค่กิโลละ 70 บาท เป็นพริกชนิดเดียวกันต่างกันที่สี และพริกแดงเวลานำไปประกอบอาหารสีจะสวยไม่ดำ และไม่เหม็นเขียว ลูกค้าจึงนิยมมากกว่า โดยส่วนใหญ่ตนจะซื้อมาจากตลาดค้าส่งในพื้นที่จังหวัด ไม่ได้รับมาจากภาคใต้ ส่วนสาเหตุที่ราคาแพงเนื่องจากก่อนหน้านี้โคราชประสบภัยแล้ง ต้นพริกแห้งตายเป็นจำนวนมาก ผลผลิตจึงน้อย กระทบยาวมาจนถึงปัจจุบัน จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือ และควบคุมราคาขาย เพราะคนเงินน้อย เศรษฐกิจไม่ดี ขายของก็ยากอยู่แล้ว ต้องช่วยกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่ : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews