Home
|
ภูมิภาค

รมว.ทส.ผุดแหล่งน้ำบาดาลเทคโนโลยีขั้นสูงแก้แล้ง

Featured Image
กระทรวงทรัพย์ ผุดโครงการแหล่งน้ำบาดาลเทคโนโลยีขั้นสูงแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการพัฒนาแหล่ง น้ำบาดาล เพื่อการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ให้กับเกษตรกรที่บ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

โดยเป็น 1 ใน 30 พื้นที่โครงการทั่วประเทศ ที่มีระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืช สร้างรายได้ในช่วงหน้าแล้ง และแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ โดยมีนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายพิชิต สมบัติมาก ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ขอนแก่น นายภิรมย์ อุทรักษ์ นายกอบต.นาไคร้ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนให้การต้อนรับ

จากนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชมผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำและได้รับประจากโครงการพัฒนาแหล่ง น้ำบาดาล เพื่อการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในครั้งนี้

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับโครงการน้ำบาดาลแห่งนี้ เป็นโครงการที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจาก 30 แห่ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นถึงความสำคัญ และได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำกินน้ำใช้ หรือน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งเป็นการลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน เบื้องต้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลระบบให้ก่อนที่จะส่งมอบให้ท้องถิ่นดูแลต่อไป

ด้าน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 บ้านกุดหว้า หมู่ที่ 2 ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็น 1 ใน 30 พื้นที่โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งให้ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลในการเกษตรกรรม รูปแบบโครงการ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาลขนาดความลึก 80 – 100 เมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 5.5 แรงม้า จำนวน 4 บ่อ ถังเหล็กเก็บน้ำขนาดความจุ 120 ลบ.ม. จำนวน 4 ถัง ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,120 วัตต์ พร้อมติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาด 10 กิโลวัตต์ จำนวน 4 ชุด สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาได้มากถึง 12 ลบ.ม./ชั่วโมง มีระยะในการส่งน้ำไกลถึง 3 กิโลเมตร เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นทางการเกษตร จำนวนกว่า 760 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 48 ราย ได้ปริมาณน้ำกว่า 2 แสน ลบ.ม./ปี

ขณะที่ นายทองเหรียญ แพงพุฒ อายุ 80 ปี เกษตรกรบ้านกุดหว้า ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในเกษตรกรใช้น้ำ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ ต.กุดหว้านั้นส่วนใหญ่ประชาชนประกอบอาชีพทำการเกษตร และอาศัยน้ำฝน เป็นหลัก ทำนา ปลูกพืชได้ปีละครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ตนอายุ 80 ปีแล้ว ในช่วงหน้าแล้งไม่เคยได้ปลูกพืช เพราะไม่มีน้ำ กระทั่งมีโครงการดังกล่าวสูบน้ำบาดาลขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านดีใจอย่างมาก เพราะมีน้ำใช้เพาะปลูกพืช ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับกับประชาชน ส่วนพื้นที่ของตนนั้นก็ปลูกข้าวโพด 10 ไร่ ตั้งเป้าหมายว่าจะนำไปขายนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว อย่างไรก็ตามขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นมา

โคราชแล้งแล้ว! 8 อำเภอ ขณะที่ อ่างบึงกระโตนวิกฤตสุดเหลือน้ำ 1 ล้าน ลบ.ม. กระทบ 200 ครัวเรือนจ่อขาดน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน ทางกระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2564 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สำรวจตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ให้ถึงระดับหมู่บ้าน ชุมชน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแผนรองรับ

ซึ่งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ ได้รายงานผลการสำรวจตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงประสบภัยแล้ง โดยพบว่า มี 55 หมู่บ้าน ใน 8 อำเภอ ที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2564 จึงได้ระดมทั้งเรื่องการสูบน้ำและขุดบ่อบาดาลเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยแล้งที่กำลังมาถึง ซึ่งมี 24 หมู่บ้าน จาก 55 หมู่บ้าน ที่อยู่นอกเขตชลประทานและไม่สามารถเจาะบ่อบาดาลหรือสูบน้ำมาจากแหล่งอื่นได้ จึงได้สั่งการให้จัดเตรียมรถน้ำของ อปท. เตรียมพร้อมไว้แจกจ่ายทั้งทหาร ชลประทาน และ ปภ.เข้าให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ จังหวัดตั้งเป้าไว้ว่า ทั้ง 24 หมู่บ้านจะต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคจนกว่าฝนจะตกในเดือนพฤษภาคม 2564

ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่แต่ละแห่งยังมีน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ แต่ประชาชนที่อยู่นอกเขตชลประทานยังน่าเป็นห่วง จึงต้องเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือ โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของจังหวัด เขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำที่ 313 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ของความจุ , เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำที่ 136 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 88 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ,เขื่อนมูลบน มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 131ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 93 เปอร์เซ็นต์ของความจุ และเขื่อนลำแชะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 211 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 275 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 76 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ ซึ่งคาดว่าประมาณน้ำจะเริ่มลดลงตามลำดับเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง

ส่วนที่อ่างเก็บน้ำบึงกระโตน อยู่ที่ตำบลประทาย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีเนื้อที่ 3,700 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันพบว่า มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จากความจุทั้งหมด 24 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่อำเภอประทาย มีฝนตกลงมาน้อยมาก แทบจะไม่มีน้ำไหลลงบึงกระโตนเลย เริ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่กว่า 200 หลังคาเรือน ใน 4 หมู่บ้าน ที่ใช้น้ำภายในบึงกระโตนเป็นหลัก เสี่ยงที่จะขาดแคนน้ำดิบผลิตประปาแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรรอบอ่างเก็บน้ำที่จะไม่สามารถปล่อยน้ำให้ทำการเกษตรได้เลย

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube