ค่าฝุ่น PM 2.5 โคราชสูงขึ้นทุกวัน กระทบสุขภาพและการหายใจของประชาชนแล้ว หากพบอาการรุนแรงปรึกษาแพทย์ทันที
แอพพลิเคชั่น Air4Thai รายงานดัชนีคุณภาพอากาศของ จ.นครราชสีมาว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐานอยู่หลายพื้นที่ เช่น ที่ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา พบว่า ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI
ซึ่งเป็นการวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศโดยรอบและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง อยู่ที่ 144 คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งค่าพุ่งสูงกว่าเมื่อวานนี้ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ส่วนค่าฝุ่น PM 2.5 ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน วันนี้ตรวจวัดได้ 68 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน อยู่ในเกณฑ์สีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยภายในตัวอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมาบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนั้นจะเห็นได้ว่าหากมองไปยังตึกสูงจะเห็นกลุ่มฝุ่น PM2.5 ค่อนข้างชัดเจน และบริเวณถนนจอมพลซึ่งอยู่ด้านหลังประตูชุมพลก็จะสังเกตุเห็นฝุ่นPM2.5 อีกด้วย นอกจากนี้บริเวณถนนราชสีมา-โชคชัยบริเวณด้านหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ที่เป็นจุดที่มีการจราจรคับคั่งในช่วงเช้าและเย็นเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 ค่อนข้างหนาแน่น
ในขณะที่แผนที่แสดงจุดความร้อนจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ล่าสุดวานนี้ พบจุดความร้อนกระจายในหลายพื้นที่ โดย 4 จังหวัดในความดูแลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ 11 นครราชสีมา ได้แก่ จ.นครราชสีมา ,บุรีรัมย์ , ชัยภูมิ และ จ.สุรินทร์ พบจุดความร้อนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ใน 4 จังหวัดนี้ มากถึง 129 จุด
โดยส่วนใหญ่เกิดในเขต สปก. และพื้นที่การเกษตร ซึ่งที่ จ.ชัยภูมิ พบจุดความร้อนมากถึง 71 จุด ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง ถึง 92 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดง มีผลต่อสุขภาพ ในขณะที่รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา พบจุดความร้อน 46 จุด โดยพบในเขต สปก. 17 จุด ,เขตป่าสงวนฯ 12 จุด , ริมทางหลวง 1 จุด ,พื้นที่การเกษตร13 จุด
และพื้นที่อื่นๆ อีก 3 จุด ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่ง 68 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์สีส้ม เริ่มมีผลต่อสุขภาพ ส่วน จ.บุรีรัมย์ กับ จ.สุรินทร์ พบจุดความร้อนจังหวัดละ 6 จุด ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์สีส้มเช่นกัน ประชาชนทั่วไป ต้องระวังสุขภาพ เพราะมีค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา
ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรใส่หน้ากากหรือใช้อุปกรณ์ป้องกัน ส่วนผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันคนหากมีความจำเป็น และถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่ปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews