ควบคุมโรคโคราชเตือนโรคอาหารเป็นพิษในรร.
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคโคราชเตือนโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน วอนให้ยึดหลักสุก ร้อน สะอาด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ห่วงใยสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีการประกอบอาหารในปริมาณมากเพื่อให้เด็กรับประทานในช่วงกลางวัน โดยทำไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ทันเวลาพักเที่ยง หากไม่นำมาอุ่นก่อนให้เด็กรับประทานอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย นอกจากอาหารแล้วยังมีนมโรงเรียน น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่ไม่สะอาดปนเปื้อนเชื้อ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ได้ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระและอาเจียน
การช่วยเหลือเบื้องต้นควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ได้แก่ สุก : รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ร้อน : อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สะอาด : บริโภคอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิต
ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสหรือรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก นมโรงเรียน ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมตามชนิดของนม เช่น นมพาสเจอร์ไรส์ ควรเก็บนมไว้ในตู้เย็นหรือถังแช่ที่มีน้ำแข็งสะอาด อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส บริโภคภายใน 10 วัน นับจากวันที่ผลิต ตรวจสอบวันหมดอายุ และสุ่มตรวจสอบคุณภาพนม สี กลิ่น รส ไม่ผิดปกติ และไม่เป็นตะกอน ก่อนให้เด็กดื่ม หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ทั้งนี้ส่วนสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 10 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จำนวน 6,210 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยแยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 2,334 ราย 2) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 1,761 ราย 3) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 1,495 ราย 4) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 620 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 212.25 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 200.52 ราย และกลุ่มอายุ 10 – 14 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 114.39 ราย ตามลำดับ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews